นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ รองปลัดกทม.เป็นประธานประชุมคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลและการขอใช้ประโยชน์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2563 โดยแจ้งว่า คณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลและการขอใช้ประโยชน์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กทม.แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารการบูรณาการแผน และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 15 พ.ย.62 เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงและตรวจสอบระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่มีในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนด้านความมั่นคง และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น สำหรับคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลและการขอใช้ประโยชน์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กทม. ประกอบด้วย ปลัดกทม. เป็นประธานคณะทำงาน หัวหน้าผู้ตรวจราชการกทม. เป็นรองประธานคณะทำงาน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนามคมแห่งชาติ ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เป็นคณะทำงาน ผู้แทนสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เป็นคณะทำงานและเลขานุการ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนสำนักงานเลขานุการปลัดกทม. เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1.กำหนดแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กทม. ให้เป็นไปตามแผนฯ ที่คณะกรรมการกำหนด 2.กำหนดแนวทางการบริหารจัดการระบบเชื่อมโยงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) การใช้ประโยชน์ การบำรุงรักษา และการรักษาความปลอดภัยของศูนย์ควบคุมและข้อมูลของระบบเชื่อมโยงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กทม.ให้เป็นไปตามแผนฯ ที่คณะกรรมการกำหนด 3.กำหนดแผนปฏิบัติการ งบประมาณ และขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กทม. 4.กำหนดมาตรการส่งเสริมการบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กทม.ร่วมกันระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน 5.เชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริง ตลอดจนจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา 6.รายงานผลการดำเนินงาน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อคณะอนุกรรมการกำหนดแผนบริหารจัดการระบบการเชื่อมโยงกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ 7.ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริหารการบูรณาการแผน และระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ มอบหมาย ปัจจุบันกทม.มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั้งสิ้น 68,747 กล้อง แบ่งเป็น 1.กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง (จนถึงปี 63) จำนวน 60,254 กล้อง 2.กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ของหน่วยงานอื่นๆ ของกทม. จำนวน 8,493 กล้อง ประกอบด้วย สำนักการศึกษา จำนวน 4,825 กล้อง โครงการ BTS จำนวน 2,917 กล้อง โครงการ BRT จำนวน 128 กล้อง และหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 623 กล้อง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานการจัดทำ ร่างคู่มือแนวทางการจัดหาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สำหรับหน่วยงานของกทม.แนวทางการขอจัดสรรงบประมาณสำหรับติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) และระบบเชื่อมโยง หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติการจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการ แบบฟอร์มการรายงานผล เพื่อนำเสนอคณะทำงานพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการจัดทำคู่มือแนวทางการจัดหาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สำหรับหน่วยงานของกทม.ดังกล่าว และจะแจกจ่ายให้หน่วยงานของกทม.ทราบและถือปฏิบัติต่อไป