หวนกลับมาอีกครั้งในประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบสอง โดยในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างเตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ที่จะมีประชาชนเดินทางไปใช้บริการมากที่สุด อย่าง “กรมเจ้าท่า” ซึ่ง “นายวิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่า เผยว่า ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ ณ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) กรมเจ้าท่า ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยทางน้ำ บริเวณท่าเทียบเรือ ที่มีประชาชน และนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่นในส่วนกลาง จำนวน 5 จุด ได้แก่ ท่าเรือพระราม 8 }ท่าเรือตลาดยอดพิมาน ,ท่าเรือริเวอร์ซิตี้ ,ท่าเรือไอคอนสยาม และท่าเรือเอเชียทีค พร้อมจัดเรือตรวจการณ์ จำนวน 10 ลำ ประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ทั่วไป จำนวน 2 ลำ ,เรือรักษาการณ์ประจำพื้นที่ จำนวน 8 ลำ ,เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือกำลังพล 171 คน ท่าเรือ 62 ท่า แยกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา 55 ท่าเรือ ,คลองแสนแสบ 7 ท่าเรือ ,เรือ 10 ลำ ส่วนภูมิภาค กำลังพล 720 เรือ 48 ลำ รวมกำลังพลทั้งสิ้น 891 คน เรือ 58 ลำ สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกฯ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1-7 และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จำนวน 41 ศูนย์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบังคับการตำรวจน้ำ สถานีตำรวจท้องที่ ตำรวจท่องเที่ยว คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เครือข่ายอาสาวารี มูลนิธิ สมาคม จิตอาสาและเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ออกมาท่องเที่ยว และใช้การสัญจรทางน้ำในคืนวันลอยกระทง และอีกหนึ่งสิ่งที่มาควบคู่กับประเพณีลอยกระทง คือ การนำพลุ ประทัดไฟ ประทัดลม ดอกไม้เพลิง หรือวัตถุที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน มาเล่นในวันดังกล่าว เป็นเหตุให้ในแต่ละปี เกิดอันตรายร้ายแรงจนสูญเสียอวัยวะ พิการหรือเสียชีวิต จากการเล่นดอกไม้เพลิงด้วยความคึกคะนอง ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าดังกล่าว “สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค” (สคบ.) จึงได้กำหนดให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากที่ต้องระบุ ข้อแนะนำการใช้ ที่มีรายละเอียดอย่างน้อย ต่อไปนี้ “ ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่ ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิสูง ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ” และคำเตือน ต้องระบุว่า “อันตรายอาจถึงตายหรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” วันลอยกระทงปีนี้ สคบ. จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่ประสงค์จะซื้อสินค้าดังกล่าวมาเล่น ขอให้อ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำ คำเตือน อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่ติดฉลากตามที่กฎหมายระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นับเป็นการป้องกันเหตุให้กับประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง! แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวประชาชนได้เช่นกันว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่!?! ขณะที่ในมุมมองการกระจายรายได้ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เพราะในช่วงนี้จะเห็นว่าการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ต้องตัดสินใจที่จะไปร่วมเทศกาลลอยกระทงหรือไม่?!? และจากข้อมูลของ “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในเรื่อง “การใช้จ่ายในช่วงวันลอยกระทง 2563” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,222 คนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.7 วางแผนไปลอยกระทง แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีร้อยละ 36.3 ไม่คิดไปลอยกระทง มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี กลัวอันตรายจากการชุมนุมและโควิด-19 ส่งผลต่อเงินสะพัดในช่วงวันลอยกระทงปีนี้ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.5 โดยมีมูลค่าเงินสะพัดเพียง 9,429 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 โดย “ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีม.หอการค้าฯ และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯกล่าวว่า แม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปีไม่ว่าจะเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืนไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย รัฐบาลยังจำเป็นต้องมีการอัดฉีดงบประมาณการลงทุน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่เวลานี้สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมองว่าการฟื้นตัวอาจล่าช้าไปอยู่ในช่วงไตรมาส 3 จากเดิมศูนย์พยากรณ์ฯมองว่า เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อจนถึงสิ้นปีจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจทำให้ติดลบมากขึ้น เนื่องจากการเมืองจะทำให้ยอดขาย กำลังซื้อ รวมถึงการจ้างงานภายในประเทศแย่ลง หากมีผลจากการชุมนุมที่รุนแรง ขณะที่ความไม่สงบภายในประเทศยังมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีไม่เห็นผลเท่าที่ควรอาจทำให้มีการชะลอการใช้จ่ายไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ติดลบร้อยละ 7.5-8.5 และเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 หรือเฉลี่ยเติบโตร้อยละ 4 นอกจากนี้ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอันดับ 1 คือปัญหาโควิด-19 รองลงมาคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพคล่องทางการเงิน โดยมีผู้ประกอบการร้อยละ 28.33 มองว่าธุรกิจมีความเสี่ยงมากถึงขั้นปิดกิจการ โดยสามารถประคองธุรกิจอีกไม่เกิน 4.6 เดือน โดยสิ่งที่ต้องการได้จากรัฐบาลมากที่สุดคือ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การหาตลาดใหม่ และการลดภาระหนี้ เห็นได้ว่าการใช้จ่ายเงิน แม้จะเป็นเทศกาลสำคัญ ก็ยังมีจุดที่ให้คิดในหลายมุมมอง! การชุมนุมการทางการเมือง และโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ หากไม่รีบสร้างความเชื่อมั่น ความคิดที่ฟื้นเศรษฐกิจในเร็ววันก็จะเป็นเรื่องยากต่อไป!