ยกให้เป็นฉากสำคัญที่คอการเมือง การทหารระหว่างประเทศ ระดับฮาร์ดคอร์ ต่างพากันจับจ้องมองอย่างไม่กระพริบตา สำหรับ “การบรรลุข้อตกลงทางการทหาร” ระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” ที่ยังคงถูกจัดให้เป็น “เบอร์หนึ่ง” ประเทศมหาอำนาจโลกแห่งยุค กับ “อินเดีย” เจ้าของฉายาถิ่น “โรตี” แดน “ภารตะ” ชาติใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ และยังถูกนับให้เป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน ปากีสถาน เกาหลีเหนือ และอิสราเอล (เป็นชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ประกาศ) จะเรียกว่า มหาอำนาจนิวเคลียร์ ต่อมหาอำนาจนิวเคลียร์ กระชับสานสัมพันธ์กันก็มิผิด แถมมิหนำซ้ำยังเป็นความสัมพันธ์ทางการทหารอีกต่างหากด้วย เมื่อปรากฏว่า ทางการสหรัฐฯ ระดมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หรือเพนตากอน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ เดินทางไปเยือนถึงแดนภารตะ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ขณะที่ ทางการอินเดีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ ก็จัดทัพคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาคอยต้อนรับอย่างคับคั่งเช่นกัน อาทิ นายราชนาถ สิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินเดีย โดยมีรายงานว่า นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะประกอบนายมาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเพนตากอน เป็นต้น ไปเยือนเลยทีเดียว ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ก่อนที่อีกไม่กี่อึดใจต่อมา ได้จรดปากกาลงนามทำความตกลงร่วมกัน ภายหลังจากพบปะหารือกันอย่างเข้มข้น ระหว่างคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางการอินเดีย ได้จัดให้ “สำนักงานว่าการสหพันธรัฐ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไฮเดอราบัด เฮาส์ (Hyderabad House)” ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เป็นสถานที่สำหรับการพบปะเจรจา และการสังสรรค์เลี้ยงรับรอง ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ บรรลุข้อตกลง จรดปากกาลงนาม ข้อตกลงทางการทหาร ที่ตัวแทนของสหรัฐฯ และอินเดีย บรรลุและลงนามร่วมกันในครั้งนี้ ก็คือ “ข้อตกลงความร่วมมือและแลกเปลี่ยนขั้นพื้นฐาน” หรือ “บีอีซีเอ (BECA : Basic Exchange and Cooperation Agreement) โดยรายละเอียดของข้อตกลงดังกล่าว ก็ได้แก่ การแบ่งปันข้อมูลสำคัญจากดาวเทียมทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย ทั้งนี้ ดาวเทียมทางการทหารข้างต้น ก็มีศักยภาพด้านการระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งสามารถพลิกแพลงนำไปประยุกต์ใช้ด้านการระบุตำแหน่งเป้าหมายสำหรับการโจมตีด้วย “ขีปนาวุธ” และ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ”โดรน” ติดอาวุธต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ใช่แต่เท่านั้น ข้อตกลง “บีอีซีเอ” ยังกำหนดให้สหรัฐฯ ในฐานะที่มีเทคโนโลยีอันสุดล้ำสมัย สามารถจัดหาเทคโนโลยีดังกล่าว ระบุตำแหน่ง และการบิน เพื่อติดตั้งในเครื่องบินทหาร ที่สหรัฐฯ จำหน่ายให้แก่อินเดีย บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ข้อตกลงบีอีซีเอฉบับนี้ ถือเป็นการขยับปรับกระชับความสัมพันธ์ทางทหารไปอีกขั้นระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย หลังจากที่ก่อนหน้า ทั้งสหรัฐฯ กับอินเดีย จะซ้อมรบทางการทหารร่วมกัน ที่อ่าวเบงกอล ในเดือนหน้า ซึ่งนอกจากทั้งสองประเทศแล้ว ก็ยังมีญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มาร่วมซ้อมรบด้วย ในฐานะจตุภาคี “ควอด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านพญามังกร จีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างขนานใหญ่ จนกระทบกระทั่งกับหลายชาติในภูมิภาค เช่น กับอินเดีย เมื่อไม่นานมานี้ จนทหารทั้งสองฝ่าย เสียชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมกันนี้ เหล่านักวิเคราะห์ ยังระบุด้วยว่า การทำข้อตกลงความร่วมมือทางการทหารดังกล่าว อาจเรียกได้ว่า เป็น “นาโตแห่งเอเชีย” ที่มีหมุดหมายการปิดล้อมสกัดกั้นอิทธิพลพญามังกรจีนเป็นประการสำคัญ