"บิ๊กตู่"ลั่นเป็นนายกฯต้องอดทน ปัดตอบอยู่ครบวาระ 4 ปี พร้อมหนุนแก้รธน.-ตั้งกก.สมานฉันท์ แก้วิกฤติประเทศ "จุรินทร์"เผยครม.เห็นพ้องแก้รธน. ระบุรอประธานสภาฯดำเนินการตั้ง"คกก. 7 ฝ่าย" หวังนศ.เข้าร่วม ด้าน "ชวน" รับสภาเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานปรองดอง มอบ"สถาบันพระปกเกล้า" ศึกษารูปแบบ "เพื่อไทย" ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรมกับกก.สมานฉันท์ฯ ชี้แค่ซื้อเวลา "สิระ"จ่อยื่น"ป.ป.ช."ถอดถอน"วิสาร" เซ่นโชว์กรีดเลือด พร้อมสอบจริยธรรม ด้าน"หมอวรงค์" ปรามส.ส.อย่ายกย่อง"วิสาร" หวั่นเยาวชนเลียนแบบใช้ความรุนแรงต่อรอง ขณะที่ศาลแพ่งไม่รับพิจารณาคำสั่งคุ้มครองให้ยกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกทม. นัดสืบประเด็นประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯมิชอบ วันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า ส่วน"ชัชวาลล์"นำชาวบางซื่อทำความดีด้วยหัวใจถวายความจงรักภักดีในหลวง รัชกาลที่ 10 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ต.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนจำเป็นต้องนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติทุกเรื่อง โดยปัญหาการเมืองที่เกิดในครั้งนี้ ไม่ใช่ตนหรือรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนต้องร่วมมือกัน หันหน้ามาเจรจากันอย่างประนีประนอม สันติวิ ธี จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนี่คือประเทศไทย "ผมไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใครว่าร้ายอะไรก็ตาม ผมก็ต้องอดทน เพราะเป็นนายกฯ คงโมโหอะ ไรมากไม่ได้และ ไม่โกรธง่าย พูดจาให้ไพเราะ วันนี้ผมก็พูดเพราะกว่าหลายๆ คนที่ได้ยินมาในขณะนี้ ทางออกมีอยู่แล้ว ขอให้เจอทางออกที่ว่า ไม่มีปัญหาใดที่เราแก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าเราจะต้องช่วยกันเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศของเรา ไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน" นายกฯ กล่าวต่อว่า ขอบคุณการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีการอภิปรายหารือกันโดยสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนพิจารณาความเหมาะสมกัน ว่าไม่ควรจะเหมือนต่างประเทศทำกัน อย่างไรก็ตาม จากการประชุม 2 วัน มีหลายเรื่องเห็นด้วย ที่สำคัญคือสนับ สนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ต้องผ่านหลายกระบวนการ ตอนนี้ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปด้วยเพราะยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีฉบับใหม่ อยู่ดีๆ จะไปตั้งกฎกติกาใหม่ตามต้องการเป็นไปไม่ได้ เราต้องอยู่ด้วยรัฐธรรมนูญกฎหมายหลักของประเทศ รวมทั้งเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออกจากแนวทางที่เสนอในรัฐสภา และในวันนี้ได้หารือในที่ประชุม ครม.แล้ว แต่คาดว่าทางรัฐสภาจะเป็นผู้ตั้งขึ้นมาจากหลายฝ่ายด้วยกัน แต่ขอให้หารือโดยสงบ หาข้อยุติออกมาให้ได้ กำลังหารือว่าจะได้ข้อสรุปเช่นไร "ผมเห็นด้วยกับการสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่ ก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะไม่ให้เลือกผมก็ได้ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือในที่ประชุม นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาเพื่อศึกษาหาทางออกในแนวทางของรัฐสภา ซึ่งทางรัฐสภาน่าจะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของรัฐสภา ส.ส. และส.ว. รวมทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่าง โดยขอให้เป็นการหารือโดยสงบ สามารถมีข้อยุติได้ ซึ่งจะต้องเป็นลักษณะของการมองถึงบริบทของประเทศไทย" เมื่อถามว่า นายกฯจะอยู่ครบวาระ 4 ปี และไม่รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมใช่หรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับว่า "ทำไมผมต้องตอบ อันนี้ผมก็ไม่รู้ ผมเข้ามาด้วยอะไรก็ว่ากันไป จะออกด้วยอะไรก็ว่ากันมา ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่ได้หยุดแค่รัฐบาลผม" ส่วน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนญ ว่าการอภิปราย 2 วันที่ผ่านมาถือว่าเป็นประโยชน์ในภาพรวมมีการเสนอความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ ประธานสภาก็ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมได้อย่างดี ซึ่งมีความชัดเจน 2 เรื่องคือ 1.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหลือเพียงประเด็นเดียวและที่สำคัญคือทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะแก้รัฐธรรมที่นำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งประธานสภาจะสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ส.ส.จากรัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภาเพื่อขอความเห็นว่าจะให้พิจารณา 6 ร่างไปก่อนหรือจะให้รอร่างรัฐธรรมนูญไอลอว์แล้วมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งหากรอร่างของไอลอว์ก็ต้องรอหลังวันที่ 12 พ.ย. และเชื่อว่าคงจะได้คำตอบเร็วๆ นี้ก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่การประชุมและ 2.เห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าจะใช้ชื่ออะไร แต่ได้เสนอไปว่าคณะกรรรมการ 7 ฝ่าย จะมากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ได้รับฉันทามนุมัติจากที่ประชุมรัฐสภา 2 วันที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เมื่อถามว่า จะมีกรอบเวลาที่ชัดเจนหรือไม่ในการดำเนินการเรื่องนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่าประธานรัฐสภาจะมอบให้คณะที่ปรึกษาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทำต้นเรื่องมาและเชื่อว่าจะใช้เวลาในกาารดำเนินการไม่นาน เมื่อถามว่า มีการพูดถึงเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.ไม่มีการพูดเรื่องนี้โดยตรง เพียงแต่พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันอภิปรายในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้หากมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา คณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถหยิบยกเรื่องนี้การทำประชามติไปหารือได้ อะไรที่เห็นพ้องก็นำไปดำเนินการต่อ แต่อะไรที่ยังเห็นต่างก็คุยกันต่อไปบนพื้นฐานความปราถนาดีต่อบ้านเมือง เมื่อถามว่า คณะกรรมการ 7 ฝ่าย จะเป็นรูปธรรมชัดเจนได้เมื่อไหร่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะตอนนี้ถือว่าประธานรัฐสภาจะเป็นผู้รับไปดำเนินการต้องไปถามรายละเอียดจากประธาน เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่าย หากนักศึกษาไม่เข้าร่วม จะทำอย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่อยากตีตนไปก่อน อยากให้มองในด้านบวกว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นตรงกันให้สภาเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานศึกษาสร้างความปรองดองขึ้นมาหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ในวันนี้(28ต.ค.) ได้ประสานไปยังเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าแล้ว เพราะเป็นหน่วยงานที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ และมีหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ศึกษารูปแบบหาทางออกร่วมกันและออกแบบโครงสร้างของคณะทำงานว่าควรจะเป็นอย่างไร เนื่องจากข้อเสนอจากรัฐสภายังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการรูปแบบใด ดังนั้นต้องหาว่าจุดประสงค์ในการตั้งคณะทำงานคืออะไรสามารถทำได้ และมีผลมากน้อยเพียงใด หากจะใช้รูปแบบคณะกรรมการ จะประกอบไปด้วยใครบ้าง และจะเชิญตัวแทนผู้ร่วมชุมนุมเข้าร่วมด้วยหรือไม่ จึงจำเป็นต้องให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยคิด เมื่อถามว่า จะต้องเสนอเป็นญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ลงมติตั้งคณะทำงานดังกล่าวหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการหารือ ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอนั้น พรรค ไม่ขอเข้าร่วม เพราะมองว่าไม่จำเป็น และเป็นการซื้อเวลาตามข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีนายวิสารกรีดแขนกลางสภาฯว่า ได้ให้ฝ่ายกฎ หมายดูว่า การกรีดเลือดในครั้งนี้ผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ และกำลังร่างเสนอ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณา ก่อนส่งให้คณะรรมกการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เพื่อถอดถอนนายวิสาร ออกจากการเเป็นส.ส. และในวันที่ 29 ต.ค.อาจจะยื่นให้สภาฯสอบจริยธรรม เพราะเสื่อมเสียเกียรติของ ส.ส.และเสื่อมเสียรัฐสภา ซึ่งรอยแผลเป็นของนายวิสารจะเป็นตราบาปของสภาฯหรือเพราะอยากดัง เพราะลูกสาวนายวิสารจะลงสมัครนายกฯอบจ ซึ่งอาจจะมีเป้าหมาย มีผลประโยชน์แอบแฝง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "#คัดค้านความรุนแรง การที่ ส.ส.คนหนึ่งใช้มีดกรีดเลือดในสภาหวังกดดันให้นายกฯลาออกถือว่าเป็นกระทำที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคัดค้าน แม้จะเป็นฝ่ายเดียวกัน ต้องไม่ยกย่อง สนับสนุน เพราะจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย โดยเฉพาะสิ่งเหล่านี้ จะง่ายแก่เด็ก เยาวชนจะมาเลียนแบบ ด้วยการทำร้ายตนเองเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ส่วน นายเกษม ศุภสิทธิ์ ทนายความของ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาศาล เพื่อฟังคำสั่งการขอคุ้มครองชั่วคราว คดีที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เพื่อไทย และนายวัชระ ยื่นฟ้องให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. โดย นายเกษม เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งโดยสรุปว่า เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่มีเหตุจะต้องยื่นอีกต่อไป แต่ได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย ถึงประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. ว่าเป็นละเมิดกฎหมาย หรือ ประกาศใช้โดยมิชอบหรือไม่ ในวันที่ 20 ม.ค. 64 เวลา 13.30 น. โดยพยานหลักฐานที่จะนำมายื่นคือเงื่อนไขการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่เป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ ส่วนกรณีที่การประกาศดังกล่าวจะมีเหตุต่อเนื่องมาจากกรณีขบวนเสด็จฯ ที่ถ.พิษณุโลก หรือไม่นั้น ส่วนนี้ไม่ขอออกความเห็นเพราะไม่ต้องการก้าวล่วง วันเดียวกัน ที่โรงเรียนวัดบางโพโอมาวาส เขตบางซื่อ กทม. เมื่อเวลา 13.00 น. จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้จัดกิจกรรม "จิตอาสารวมใจพัฒนาท้องถิ่น" โดยมี นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกันทำความสะอาด เพื่อน้อมถวายความจงรักภักดีแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสถาบันพระมหากษัตริย์ ณ วัดบางโพโอมาวาส เขตบางซื่อ จากนั้น นายชัชวาล ได้นำกล่าวว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรเป็นสำคัญ พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสานรักษาและต่อยอดโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชดำริต่างๆ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า จึงทรงพระราชทานโครงการจิตอาสา ตามแนวทางพระราชดำริ พัฒนาคู คลองแหล่งน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน "สถานีตำรวจนครบาลบางโพ สถานีดับเพลิง และกู้ภัยบางโพ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ สำนักงานเขตบางซื่อ ข้าราชการ และลูกจ้าง และประชาชนจิตอาสาทุกคน ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในวันนี้จึงได้จัดกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พัฒนาพื้นที่บริเวณวัดบางโพโอมาวาส โดยกำจัดขยะวัชพืช เพื่อเปิดทางน้ำไหล ตัดแต่งกิ่งไม้ ทำความสะอาด พื้นที่บริเวณลานวัด เก็บขยะบริเวณสันเขื่อนคลองบางโพธิ์ เก็บขยะ บริเวณตะแกรงประตูระบายน้ำ ประชาชนจิตอาสาต่างพร้อมใจกันมา ณ ที่นี้ ด้วยความจงรักภักดี และความรู้รักสามัคคีในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นประชาชนจิตอาสาได้กล่าวคำปฏิญาณพร้อมกัน 3 ครั้ง "เราทำความดีเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์"