องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ลงนาม (MOU) กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในโครงการวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง สมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) วันที่ 20 ต.ค. 2563 ที่ห้องประชุม ชั้น 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี , ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รักษาราชการแทน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการ (MOU) โครงการวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง สมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยมี นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี เขต 3 ,นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี เขต 8 ,นางอาภรณ์ สาราคำ ส.ส.อุดรธานี เขต 4 และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คณะผู้บริหารจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ,องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ,ผู้นำท้องถิ่น ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ก่อนการลงนาม MOU ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าประชุมฯ และการสรุปแผนงานต่าง ๆ ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า วันนี้คือการลงนามบันทึกความเข้าใจต่อทั้ง 2 ฝ่าย ในการศึกษาโครงการทั้งหมด ซึ่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้สนับสนุนในทุกด้านทุกมิติ ส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จะเป็นผู้ศึกษาวิจัย โดยบุคคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในอนาคต “เรื่องของ OTOP ไม่ซับซ้อนอะไรมาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีการวิจัยอยู่ก่อนแล้ว มีแผนงานที่ออกแบบไว้แล้ว ส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี จะใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ บ้านหนองลีหู จำนวน 110 ไร่ สร้างโรงเพาะปลูกกัญชาขนาด 5x9 เมตร จำนวน 4 โรง เป็นโรงเพาะเลี้ยงระบบปิดปรับอากาศ ป้องกันการปนเปื้อน ราคาโรงละ 1 ล้านบาท มีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวด เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยและทดลองระบบการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้านต่อไป” นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าว นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวต่ออีกว่า “ส่วนเรื่อง กัญชา กัญชง เราเห็นถึงประโยชน์ของพืชชนิดนี้ การรักษาทางเลือกประเภทนี้กำลังได้รับความสนใจ และมีงานวิจัยออกมาหลากหลาย และทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ก็ได้ศึกษาและวิจัยกันมาอย่างเป็นระบบ จึงเล็งเห็นว่าน่าจะมีองค์ความรู้ที่สำคัญในอนาคต เพื่อประโยชน์ในด้านการแพทย์และทางด้านเศรษฐกิจ หากโครงการแล้วเสร็จ ก็จะได้ต่อยอดความรู้นี้ไปสู่วิสาหกิจชุมชนต่อไปได้ ปัจจุบันตนเองก็ทดลองใช้อยู่เป็นยาแคปซูล CBD ก่อนหน้านี้เจ็บป่วยมาตลอด มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่ค่อยหลับ แต่พอได้ทดลองใช้ก็เห็นว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาที่น่าสนใจ เนื่องจากร่างกายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าว ด้าน รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รักษาราชการแทน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การลงนาม MOU ลักษณะนี้ เราดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จำนวน 15 แห่ง ทั่วประเทศ ที่จังหวัดอุดรธานีเป็นแห่งที่ 16 และวางแผนว่าจะเป็นพื้นที่ต้นแบบ เนื่องจากมีความพร้อมในหลายด้าน เราวิจัยเรื่องนี้กันมา 3 ปีแล้ว เรามีบุคลากรและสถานที่ ทาง อบจ.อุดรธานี จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องเงินทุน ต่อจากนี้จะเร่งประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตรวจสอบและสรุปเรื่องพื้นที่ตั้ง โดยใช้พื้นที่ใน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดอุดรธานี “ส่วนเรื่องสายพันธุ์เราจะพยายามให้หลากหลายสายพันธุ์และมากที่สุด มีทั้งต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์จากทั้งในและต่างประเทศ สกัดเพื่อศึกษาวิจัยในเรื่องสารสำคัญสูง CBD เพื่อทางการแพทย์โดยเฉพาะไม่เน้นเรื่อง THC ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกแบบ ดูสถานที่ก่อสร้าง ก่อนเสนอต่อ อย. และ ปปส. เพื่อมาตรวจสอบในการขออนุญาต ทุกขั้นตอนอยู่ในกฎหมายทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 4 เดือน และที่จังหวัดอุดรธานีจะเป็นแห่งแรกที่มีศูนย์เวชศาสตร์ มีเภสัชประจำ จะสามารถวิจัย ให้คำปรึกษาและแจกจ่ายยาได้ในอนาคต จะเป็นต้นแบบให้กับทุกที่ในประเทศไทย เป้าประสงค์สุดท้ายคือจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้วิสาหกิจชุมชนต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รักษาราชการแทน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าว.