"ฝ่ายค้าน-รัฐบาล"ไฟเขียวเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ แก้วิกฤติ"ม็อบดาวกระจายทั่วประเทศ" ด้าน"ชวน" จ่อร่อนหนังสือถึง"บิ๊กตู่" เร่งคลี่คลายสถานการณ์ "เพื่อไทย" เสี้ยมพรรคร่วมถอนถอดสลักการเมือง เปิดทางที่มานายกฯจาก "บัญชีเดิม-คนนอก" ส่วน "บิ๊กตู่" ยันรบ.ประนีประนอมที่สุด ขอม็อบชุมนุมอย่าสร้างสถานการณ์ ลั่นจำเป็นต้องปกป้องสถาบัน "สนธิญา"แจ้งจับ"ธนาธร"ร่วมชุมนุมม็อบลาดพร้าวฐานผิดพรก.ฉุกเฉิน-พรบ.ชุมนุม -พรบ.โรคติดต่อ ส่วน"กอร.ฉ."ตั้งโต๊ะแถลงจ่อเอาผิด"เพจข่าวออนไลน์"แพร่คลิปสลายม็อบซ้ำทำประชาชนเข้าใจผิด สั่ง"กสทช."เช็กเนื้อหารายการส่อกระทบความมั่นคง-ศีลธรรม พร้อมตั้ง"คณะกก.บริหารจัดการสื่อและข้อมูลข่าวสาร" ดูแลสื่อฯ แจงยังไม่ได้สั่งปิด "ตำรวจ"หิ้วตัว "ไมค์ ระยอง" ฝากขังศาลอาญา ผิดมาตรา116- คดีปักหมุดคณะราษฎร พร้อมค้านประกัน ขณะที่"หมอทศพร"ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ส่วน "ม็อบ"ประกาศชุมนุม 3 จุด "สถานี สาธารณสุข-แยกเกษตร-เรือนจำพิเศษกทม." ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 19 ต.ค.63 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการหารือกับตัวแทนพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อแก้วิกฤติการชุมนุม ของกลุ่มคณะราษฎร 2563และประชาชน ว่า เป็นการหารือภายในกับตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้น และหากได้ข้อสรุปก็จะส่งเป็นข้อแนะนำไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือส่งให้รัฐบาล ส่วนแนวทางการเปิดสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อหารือและหาทางออกร่วมกันนั้น เห็นว่าแม้การเปิดประชุมจะไม่ทำให้หาทางออกได้ทันที แต่ก็ถือเป็นหนทางหนึ่งที่ให้ทุกฝ่ายมีเวทีหาทางออกร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เหลือเวลาอีก 10 วัน ก็จะเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญครั้งที่ 2 แล้ว ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และพรรคการเมืองที่เห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีนั้น เบื้องต้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการได้ทำเรื่องขอขยายเวลาอีก 15 วัน ซึ่งการจะพิจารณาญัตติเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกมธ.จะส่งเรื่องเข้ามา ต่อมานายชวน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่ว่า ส่วนใหญ่ยืนยันต้องการให้เปิดการประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งตนจะรีบทำหนังสือไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม แจ้งให้ทราบว่า ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอยากให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคราม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า มาตรการสำคัญคือการเปิดประชุมแบบวิสามัญและเร่งด่วน แม้จะมีเวลาแค่ 10 วันนี้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็รวดเร็ว และอะไรก็เกิดขึ้นได้แม้แต่ 1-2 วัน ก็ไม่ควรปล่อยเวลาทิ้งไป และเมื่อเปิดประชุมหารือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับหรือต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดก็เห็นควรที่จะต้องเปิดประชุมแบบวิสามัญ เพื่อลงมติโหวต และเชื่อว่าหากโหวตผ่านสถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะสามารถยื่นต่อได้ในสมัยประชุมแบบสามัญ "ทุกวันนี้ต้องตระหนักว่านายกฯต้องเป็นผู้แก้ปัญหา หากสภาฯมีมติ หรือแนะนำอะไรบางอย่างกับนายกฯก็เชื่อว่าจะมีน้ำหนัก ไม่น้อยกว่าผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังเห็นว่าการยุบสภาขณะนี้ ยังต้องใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิมอยู่ ซึ่งจะทำให้ปัญหาวนกลับมาอีก และคำว่าสืบทอดอำนาจก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาอีก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการทำ ให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นและจะเอาใครเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ก็ต้องมาช่วยกันคิด และต้องเป็นรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับ และต้องถ่วงดุลและตรวจสอบได้" เมื่อถามว่า เริ่มมีการเสนอประเด็นมาตรา 272 ที่ให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88 เปิดช่องเสนอนายกฯ นอกบัญชี นายสุทิน กล่าวว่า เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง 700 คน มีวิจารณญาณว่าอะไรสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งมาตราดังกล่าว สามารถบังคับใช้ได้แต่ต้องมาคิดกันว่าสถานการณ์ปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ ส่วนที่ว่าหากนายกฯ ลาออกและใครจะมาเป็นนายกฯ ต่อนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสภาและประชาชน โดยส่วนตัวเห็นว่ามี 2 กลไกตามรัฐธรรมนูญ คือเลือกตามแคนดิเดตเดิม หรือการใช้มาตรา 272 ก็ได้หรือใครที่นอกเหนือจากนี้ก็เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ " นายกฯจะต้องเป็นคนถอดสลักต่อปัญหานี้หรือหากพรรคร่วมรัฐบาล ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วม ก็ถือ ว่าเป็นทางออกอย่างหนึ่ง และถ้าทุกคนตระหนักดีว่าตัวเองสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ควรคิดได้ว่าต้องถอนตัว และเชื่อว่าระบบรัฐสภามีทางเลือกจำนวนมากอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่" ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และรู้ว่าวันนี้สภาฯ จะมีการหารือ เรื่องการเปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ และขอสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อนำข้อเท็จจริงมาพูด จาดีกว่าจะให้ฟังฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว และเพื่อลดความขัดแย้งลงห้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ก็จะมีการหารือเรื่องการเปิดประชุมสภา เพื่อเตรียมการให้พร้อม เมื่อถามว่า จะมีประเด็นเรื่องสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ก็คอยดูแล้วกัน" ส่วนจะมีการเพิ่มมาตรการกับผู้ชุมนุม หรือขยายพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ยังไม่มีการขยายพื้นที่อะไรทั้งสิ้น "รัฐบาลพยายามประนีประนอมมากที่สุดแล้ว จึงขออย่ากระทำความผิดทำลายทรัพย์สิน ให้ชุมนุมโดยสงบและสิ่งสำคัญที่สุดคือระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน ในกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ประเด็นที่รัฐบาล จำเป็นต้องทำ คือ เรื่อง การของปกป้องสถาบัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องดำเนินการ และขออย่าให้มีการสร้างสถานการณ์ ให้นำไปถึงจุดนั้นก็แล้วกัน" ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีการสั่งการไม่ให้ใช้กำลังเหมือนวันที่ 16 ต.ค. แล้วใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบกลับว่า ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการพิจารณาอยู่ และเมื่อมีการกล่าวถึงการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต พล.อ.ประยุทธ์ มีอาการฉุนก่อนตอบว่า "มันคนละเรื่อง คนละเวลา คนละสถานการณ์ คนละรัฐบาล อย่ามาถามรัฐบาลผม แต่ก่อนนี้รัฐบาลใคร รัฐบาลผมหรือเปล่า" อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายนายกฯ ย้ำว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว บอกหลายครั้งว่ายังไม่มี ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีการชุมนุมว่า ยังไม่มีความคิด เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ยังคุมทั่วทั้งประเทศอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่อื่น ที่กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง(กอร.ฉ.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. แถลงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในรอบ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา ว่า มีการชุมนุม 3 พื้นที่หลักและได้ควบคุมตัวนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงปทุมวัน และได้รับมอบตัว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงปทุมวัน และมียอดสะสมผู้กระทำความผิดและถูกจับกุมตัวมีทั้งสิ้น 74 ราย มีทั้งแกนนำและ ผู้ชุมนุม ซึ่งทาง บช.น.ยืนยันว่าจะดำเนินคดี กับผู้ที่กระทำผิดทุกราย ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมในวันนี้ (19ต.ค.) เตรียมกำลังเบื้องต้นไว้ 12 กองร้อยเช่นเดิม โดยจะเน้นดูแลความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม ป้องกันมือที่สามมาสร้างความวุ่นวาย ส่วนการสลายการชุมนุม พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชากาตำรวจนครบาล จะเป็นผู้พิจารณาสั่งการ ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ขณะนี้มีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 เรื่องให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะฝ่าฝืนพ.ร .ก.ฉุกเฉิน ที่ยังไม่มีการบังคับใช้ เพียงให้สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตรวจสอบรายการบางส่วน ของ วอยซ์ ทีวี หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The Reporters, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรมอันดีของประชาชน แต่ขอยืนยันไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือสั่งปิดสื่อแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสื่อ เพื่อตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ หากมีข้อมูลข่าวสาร ที่กระทบความมั่นคง ถ้าผู้กระทำเป็นบุคคล ก็จะเรียกมาตักเตือนก่อน แต่หากผิดกฎหมาย จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่หากเป็นข่าวปลอม ก็จะให้หน่วยงานที่มีอำนาจ ดำเนินการไปตามกฎหมาย ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พบเพจข่าวออนไลน์ มีการนำคลิปเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม มาถ่ายทอดซ้ำทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่ามีเหตุปะทะ กันอีกครั้ง ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน ก็จะมีการความแจ้งความดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนที่ สน.พหลโยธิน นายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบ สวน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีเข้าไปร่วมชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือว่าผิดต่อพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและ พ.ร.บ. ว่าด้วยโรคติดต่อร้ายแรง และยังทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องไว้ก่อนรวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวน ได้คุมตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์ ระยอง" ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 2สำนวนในความผิดฐานยุยุงปลกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองมาตรา116 เเละข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมรวมทั้งคดีปักหมุดคณะราษฎร์ในพื้นที่ท้องสนามหลวง โดยท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่ ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัว เกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตส.ส.เพื่อไทย ได้ดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหามั่วสุมเกิน 5 คน ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. บริเวณแยกราชประสงค์ โดยเจ้าหน้าที่จะส่งตัวตนไปที่กองบังคับตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 นั้น ล่าสุด น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ในทวิตเตอร์ระบุว่า...ด่วน! คุณหมอทศพรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ทำสัญญาปฏิบัติตามศาลนัด ด้าน เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายกลุ่มคณะราษฎร โพสต์ข้อความว่า "#เพราะทุกคนคือแกนนำ เราจึงอยากซาวเสียงว่าอยากพัก 1 วันหรือลุยต่อ! ส่วนใครใคร่พัก 1 วัน ขอให้พักผ่อนให้เต็มที่! ใครใคร่ลุยต่อ ลุยได้เลย! วันนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ และเราจะนำมาแจ้งให้ทุกคนทราบ โปรดติดตามต่อไป เพราะรัฐไม่อาจหยุดยั้งการเรียกร้องในครั้งนี้ได้ ร่วมต่อสู้ไปด้วยกันเพื่ออนาคตของเยาวชนและประชาชนที่ดีกว่า! วันนี้นับล้าน วันต่อๆไปมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ!" ล่าสุด คณะเยาวชนปลดแอก ได้ประกาศยืนยัน สถานที่จัดม็อบ 19 ตุลา ในวันนี้ ได้แก่ที่ เรือนจำพิเศษ กทม. แยกเกษตร และ เอ็มอาร์ที สาธารณสุข โดยเชิญชวนให้เขียนข้อเรียกร้องมาชูด้วยกัน