ผู้บริโภคสะพรึง!! เนื้อโคปลอม ส่งขายร้านชาบู ร้านอาหารอีสาน ส่งขายออนไลน์ทั่วประเทศ ตรวจพบ DNA สุกร เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งการชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท นำโดยนายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุด ร่วมกับ พ.ต.ท. เกียรติ ชัย แสงศิลา ร.ต.อ. ศิษฎพงศ์ สิริวัฒน์ กอง บังคับการ ปราบปราม การ กระ ทำ ความผิด เกี่ยวกับ การ คุ้มครอง ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการ อาหาร และยา ลงพื้นที่ตรวจสอบ และขยายผล กรณีที่มีผู้ร้องเรียนผ่านกรมปศุสัตว์ว่ามีการลักลอบนำเนื้อสุกร มาปลอมแปลงให้เหมือนเนื้อโคและจำหน่าย ให้แก่ผู้บริโภค บริเวณย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 นั้นจากการตรวจสอบพบมีการประกอบกิจการ​จำหน่าย​เนื้อสัตว์​และตัดแต่งจริง พร้อมกับมีการขายออนไลน์ทางเฟซบุ๊ค​ เป็นลักษณะแช่แข็งพร้อมจำหน่าย​ไปยังร้านชาบู ร้านค้าเนื้อ และร้านอาหาร​อีสานทั่วประเทศ ในที่เกิดเหตุ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบคนงานกำลังตัดแต่งบรรจุเนื้อสัตว์ พบเนื้อโค เครื่องใน และเลือด 228 กิโลกรัม เนื้อสันคอโคตัดแต่ง เป็นก้อน ถุงละ 1 กิโลกรัม รวม 50 กิโลกรัม และเนื้อโคนำเข้า จากประเทศ อินเดีย 136 กิโลกรัม โดยเนื้อทั้งหมดไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้อายัดเนื้อทั้งหมด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ (โค) จำนวน 8 รายการ ส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ของกรมปศุสัตว์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ทราบผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการแล้ว ตรวจพบพบมีเชื้อจุลินทรีย์ ก่อโรคที่เป็นอันตราย และตรวจสอบพบ DNA สุกร จำนวน 4 รายการ 1.ลิ้นเค็ม (โค) 2.สต็กเนื้อ (โค) 3.เนื้อสันคอ (โค) 4.เนื้อสันคอ (โค) สำหรับการกระทำความผิดที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 3 ข้อหา ตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และกฎหมายควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 พบมีการกระทำความผิด​ ดังนี้ -ไม่สามารถแสดงเอกสารใบอนุญาต​เคลื่อนย้าย (ร.4)​ มีความผิดตามพรบ.โรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท -ไม่สามารถ​แสดงเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์​ (รน)​ มีความผิดตามพรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท -ไม่สามารถ​แสดงใบอนุญาต​ค้าสัตว์หรือซากสัตว์​ (ร.10/1) มีความผิดตามพรบ.โรคระบาดสัตว์ โทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากนี้จะดำเนินรวบรวมหลักฐานส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2562 และกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เพื่อดำเนินคดีต่อไปให้ถึงที่สุด ซากเนื้อโคที่อายัดไว้ตรวจพบจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตรายจะถูกนำไปทำลายตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงขอฝากไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนทุกท่าน ได้โปรดเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการผลิตและสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการปศุสัตว์ OK และหากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ