กรมพัฒนาที่ดิน จับมือ ม.แม่ฟ้าหลวง ทำ MOU ร่วมแก้ไขปัญหาและจัดการการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และรองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ของทั้งสองหน่วยงานในการปฏิบัติร่วมกัน โดยมีนายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และรองศาสตราจารย์ ดร.นันทนา คชเสนี ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงฯ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องดอยตุง ชั้น 2 อาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นางสาวเบญจพร กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญในด้านการพัฒนาที่ดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการกำหนดนโยบายวางแผนการใช้ที่ดิน และการบริหารจัดการดินและที่ดินให้มีศักยภาพในการผลิต อันเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการผลิตและให้บริการชุดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข หมุดหลักฐานแผนที่ ข้อมูลความสูงภูมิประเทศ แผนที่เขตป่าไม้ถาวร แผนที่ดิน และแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งการลงนาม MOU ในครั้งนี้ ทางกรมพัฒนาที่ดินยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ งานวิจัย และเทคโนโลยี ตามกรอบความร่วมมือของบันทึกข้อตกลง ต่อไป สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดกรอบความร่วมมือทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศึกษาวิจัย ในประเด็นการศึกษาการปนเปื้อนสารก่อมลพิษทางดินที่ส่งผลต่อการบริการเชิงนิเวศ และการลดใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตรกรรม การพัฒนานวัตกรรมและเทคนิคการวิเคราะห์ดินสำหรับเกษตรกรที่เหมาะสมกับทรัพยากรดินของประเทศไทย การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้และชุมชน รวมถึงจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่สูงที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ให้องค์กร สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและจัดการการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน