นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามและเฝ้าระวังการสื่อสารมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายตามคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ทั้งนี้ กรณีการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐของสื่อ 4 แห่ง ตามที่เป็นข่าวนั้น ยอมรับว่าเอกสารคำสั่งของ ผบ.ตร.ที่ให้ตรวจสอบสื่อเป็นของจริง แต่จะต้องดูว่าบังคับใช้กับใครบ้าง แต่ในส่วนของกระทรวงดีอีเอส ได้ติดตามทั้งสื่อและรายบุคคลอย่างระมัดระวัง และหากสิ่งใดไม่เข้าข่ายชัดเจนก็ยังไม่ส่งดำเนินคดี ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้นประชาชน ขอย้ำว่า ไม่ได้ดำเนินคดีกับทุกคน เพราะหากไม่เข้าข่ายความผิดหรือข้อกฎหมาย ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน ทั้งนี้ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่าเป็นการปิดสื่อ เพราะจอไม่ได้ดำ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะต้องเชิญช่องต่างๆมาชี้แจงถึงการนำเสนอข่าว และให้ระมัดระวังสื่อที่ออกมา ซึ่งจริงๆแล้วคนยังไม่เห็นคำสั่งครบถ้วน เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูว่าอันไหนยุยง ชี้นำเนื้อหาผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามขั้นตอน เพราะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย จึงจำเป็นต้องเข้มงวด โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 ได้มีความพยายามสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ซึ่งวันนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงดีอีเอส แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มที่ผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ 14-18 ต.ค.63 เบื้องต้นพบผู้กระทำผิดกว่า 300,000 URL โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อระบุตัวบุคคลให้ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงอยากเตือนประชาชนให้ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะห้ามยุยง ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก ดังนั้นหากมีการกระทำที่เข่าข่ายก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด "นายกฯไม่ได้กำชับอะไรมาก ให้ปฏิบัติตามกฏระเบียบ กระทรวงดิจิทัลฯพยายามดูให้รอบคอบไม่รังแกใคร ที่ผ่านมาทำหลายเรื่อง ทั้งเตือนการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จต่างๆ ที่แชร์ข้อมูลไปจำนวนมากที่ดูแล้วก็เข้าข่ายทำความผิด แต่เราคัดกรองอย่างรอบคอบ เอาผิดจริงๆจะเน้นในกลุ่มที่เป็นต้นตอมากกว่าก่อน" สำหรับในส่วนของกระทรวงดีอีเอส จะเก็บรวบรวมหลักฐานผู้กระทำความผิด ส่วนจะใช้กฎหมายฉบับใดก็จะพิจารณาต่อไป ซึ่งหากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป ส่วนที่เข้าข่าย พ.ร.บ.คอมฯก็จะดำเนินการทันที ทั้งนี้ยืนยันว่า ดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วนกรณีที่สื่อโซเชียล ระบุว่าตนจะปิดเฟซบุ๊กต่างๆ นั้นต้องดูว่าทำได้หรือไม่ ขอดูคำสั่งอีกที ส่วนการไลฟ์สดก็ทำได้ แต่ถ้าไปไลฟ์สดผู้ที่พูดบนเวทีแล้วมีเนื้อหาที่หมิ่นหรือผิดกฎหมายที่ กล่าวร้ายพาดพิงผู้อื่นก็จะเข้าข่ายมีความผิด แต่หากเป็นการรายงานทั่วไป ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ตามที่นายพุทธิพงษ์ ให้นโยบาย ในการตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระหว่างวันที่ 13-18 ต.ค.63โดยที่มีทั้งประชาชนแจ้งเข้ามา และทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบ ว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น Twitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Web board 4,236 เรื่อง ซึ่งรวมทั้งผู้โพสต์คนแรก และแชร์ รีทวิตข้อความที่ผิดกฎหมาย โดยลำดับแรกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอาผิดเฉพาะผู้โพสต์คนแรกๆที่นำเข้าซึ่งข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อนจำนวนหนึ่ง โดยพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย คนหลักๆ อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Pavin chachavalpongpun” และทวิตเตอร์ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, เพจเฟซบุ๊กของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำมวลชน รวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง) ไปแล้ว 2 ครั้ง หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงดีอีเอส จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต่อไป ทั้งนี้ขอฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จะโพสต์ข้อความ ภาพสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูล รีทวิตที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที และล่าสุดมีเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวและบุคคลมีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน