นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวติดลบ 7.5% ก่อนจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2564 ที่ 4-5% โดยในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ซึ่งแนวทางหลักคือการมุ่งเน้นการลดการระบาด และลดผลกระทบ รวมถึงกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น โดยผลการดำเนินงานของ ศบค.และ ศบศ.ประสบผลสำเร็จอย่างมากจนทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ขณะเดียวกันในระยะยาวรัฐบาลจะมุ่งที่การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างทั่วถึง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพิ่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของประเทศ สำหรับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2563 กระทรวงการคลังมองว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะค่อยๆคลี่คลายลง แต่กลุ่มประเทศยากจนและประเทศขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดในการด้านทรัพยากรจะถูกกระทบค่อนข้างมาก ในมุมมองจึงขอให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือประเทศเหล่านี้เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างทั่วถึง ส่วนในระยะต่อไปมองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำและความล่าช้าของการพัฒนาวัคซีน ดังนั้นไทยจึงขอให้ประชาคมโลกร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาด ร่วมกันพัฒนาวัคซีนโดยเร็วและกระจายอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ได้เตรียมจัดทำมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นมาตรการดูแลเป็นรายธุรกิจ หรือรายพื้นที่ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่เพิ่มเติมจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีปกติจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศทำได้เร็วขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันมากกว่าเดิม โดยแผนระยะสั้นหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว เราจะเน้นไปที่การช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ส่วนในระยะยาว รัฐบาลจะมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน โดยจะมีการใช้มาตรการภาษีเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เพิ่มเติมจากของบีโอไอที่เป็นมาตรการทั่วไป แต่การให้สิทธิทางภาษีที่เพิ่มให้ต้องเจาะจงเป็นรายพื้นที่ ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกัน