ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...
สถานการณ์ทั่วโลก 19 ตุลาคม 2563... ทะลุ 40 ล้านคนไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ตอนบ่ายๆ คาดว่าจะเกิน 50 ล้านคนภายในเดือนพฤศจิกายน เมื่อวานติดเพิ่ม 306,510 คน รวมแล้วตอนนี้ 40,241,364 คน ตายเพิ่มอีก 3,674 คน ยอดตายรวม 1,117,814 คน อเมริกา ติดเพิ่ม 45,298 คน รวม 8,385,541 คน อินเดีย ติดเพิ่ม 55,035 คน รวม 7,547,762 คน บราซิล ติดเพิ่ม 10,982 คน รวม 5,235,344 คน รัสเซีย ติดเพิ่ม 15,099 คน รวม 1,399,334 คน อันดับ 5-10 ตอนนี้เป็น อาร์เจนตินา สเปน โคลอมเบีย ฝรั่งเศส เปรู และเม็กซิโก ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน ฝรั่งเศสยังน่าเป็นห่วงมาก ติดเพิ่มสูงถึง 29,837 คน ตอนนี้ยอดรวม 897,034 คน อัตราเสียชีวิต 3.7% คาดว่าจะมีการติดเชื้อสะสมเกินหนึ่งล้านคนภายในสัปดาห์นี้ ในกลุ่มท็อปเทนนี้ เม็กซิโกมีอัตราตายสูงสุด 10.2% สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น อัตราตายในปัจจุบัน อิตาลี 8.8% สหราชอาณาจักร 6% แคนาดา 4.9% อินโดนีเซีย 3.5% เนเธอร์แลนด์ 3% เยอรมัน 2.7% ฟิลิปปินส์ 1.9% บังคลาเทศ 1.5% หลายต่อหลายประเทศในยุโรป ก็ยังติดกันหลักร้อยถึงหลักพัน ญี่ปุ่น และมาเลเซียติดเพิ่มกันหลายร้อย ส่วนจีน และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มกันหลักสิบ ในขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ ...วิเคราะห์สถานการณ์ของมาเลเซีย ติดไปถึง 871 คนในวันเดียว เป็นสถิติเกินแปดร้อยต่อเนื่องกันเป็นวันที่สอง ระลอกนี้สูงกว่าระลอกก่อนถึงเกือบ 3 เท่า ...สถานการณ์ในเมียนมาร์ยังรุนแรง ติดเพิ่มอีก 1,150 คน ตายเพิ่มอีก 42 คน ตอนนี้ยอดรวม 36,025 คน ตายไป 880 คน อัตราตายตอนนี้ 2.4% ...การระบาดทั่วโลกของ COVID-19 รุนแรงขึ้นอย่างมาก จาก 10 ล้านไป 20 ล้าน ใช้เวลา 43.5 วัน จาก 20 ล้านไป 30 ล้าน ใช้เวลา 37.5 วัน และล่าสุด จาก 30 ล้านไป 40 ล้าน ใช้เวลาเพียง 33.5 วัน ...จะสังเกตว่าเร็วขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐไทยคิดจะประคับประคองให้ประเทศไทยเรารอดจากการระบาดซ้ำ สิ่งที่ท่านควรคิดทำ ณ เวลานี้มีอย่างเดียวครับ นั่นคือ "ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศเลื่อนมาตรการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปก่อนจนถึงอย่างน้อยต้นมีนาคม 2564" แต่หากเลือกที่จะรับ...ก็คงต้องเตรียมตัวเผชิญกับเส้นทางสู่การระบาดซ้ำที่เป็น "The train with no return" และจะเกิดผลกระทบวงกว้างได้ ทรัพยากรที่มีอาจยืนหยัดต่อสู้ได้ไม่นาน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งถัดไปอาจยากลำบากมากครับ เอาใจช่วย... ด้วยรักต่อทุกคน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณข้อมูล:เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat