"โคราช"อ่วม! อ่างเก็บน้ำแตก น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่อ.ปักธงชัย หลายตำบล ประชาชนอพยพหนีตายอลหม่านตลอดทั้งคืน ด้าน"เขื่อนลำพระเพลิง"น้ำล้นสปิลเวย์ น้ำไหลเข้าเขื่อนวันเดียวกว่า 15 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำพุ่งกว่า 111% เตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มระวังมวลน้ำลูกใหญ่ท่วมอีกระลอก "นายกฯ"สั่งเฝ้าระวังระดับน้ำที่ปักธงชัย พร้อมเร่งช่วยเหลือและอพยพประชาชน ขณะที่"ปภ."เผย 25 จังหวัดอ่วม เจอน้ำท่วมฉับพลัน ดินสไลด์ และวาตภัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จากอิทธิพลของพายุหลายลูก ส่งผลให้เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 17 ต.ค. ปรากฏว่าอ่างเก็บน้ำลำหินตาโง่ ต.ลำนางแก้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา คันกั้นน้ำได้แตกพังเป็นช่อง ๆ ทำให้มวลน้ำไหลทะลักลงพื้นที่ด้านล่าง และไหลลงคลองลำพระเพลิง และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวนมากหลายตำบล นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ อำเภอปักธงชัย เปิดเผยว่า ได้เร่งอพยพชาวบ้าน หนีน้ำท่วมจากเหตุอ่างเก็บน้ำลำหินตะโง่แตก หลังจากที่น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใน อ.ปักธงชัย หลายตำบล โดยเฉพาะที่บ้านปลายดาบ หมู่ที่ 2 ต.สุขเกษม และบ้านใหม่ตะแบก หมู่ที่ 7 ต.ตูม ได้มีมวลน้ำจำนวนมาก ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนหลายหลังคาเรือนที่อยู่ใกล้กับคลองธรรมชาติ ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร โดยช่วงกลางดึกทางเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยฮุก 31 จุดปักธงชัย และจุดโพธิ์กลาง ได้ระดมทีมกู้ภัยลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ภายในบ้านตลอดทั้งคืน ขณะเดียวกันนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอปักธงชัย ได้แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ให้วิ่งรถแจ้งเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ ต.ตะขบ ต.สุขเกษม ต.ตูม และ ต.บ้านงิ้ว เป็นต้น ให้เก็บของขึ้นที่สูง และอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อหนีน้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง ด้าน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำหินตาโง่ บ้านลำประโคน ต.ลำนางแก้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา หลังพื้นดินทรุดตัวทำให้ฝายทรุดพังเสียหาย ซึ่งอ่างเก็บน้ำหินตาโง่ ก่อสร้างโดยโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา แล้วเสร็จในปี 2530 และทำการถ่ายโอนภารกิจให้กับเทศบาลตำบลลำนางแก้วเมื่อปี 2546 โดยอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ กักเก็บน้ำได้ประมาณ 1,200,000 ลูกบาศก์เมตร "แต่เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.นครราชสีมา อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อ่างเก็บน้ำลำตะโง่แตกพัง เป็นผลจากปริมาณที่ไหลลงฝายจำนวนมากจนล้นคันกั้นน้ำ และด้านข้างของคันกั้นน้ำของฝายถูกน้ำกัดเซาะดินจนทำให้คันกั้นน้ำพังทลายเสียหาย ความยาวกว่า 10 เมตร ปริมาณน้ำที่ทะลักออกมาจะไหลลงไปรวมกับน้ำในคลองลำพระเพลิง โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนให้ชาวบ้านเฝ้าระวัง และเก็บสิ่งของขึ้นบนที่สูงเพื่อความปลอดภัยแล้ว ซึ่งขณะนี้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วม 2 หมู่บ้านคือ บ้านลำประโคนเหนือ หมู่ 5 และบ้านลำประโคน หมู่ 3 บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 60 หลังคาเรือน" วันเดียวกัน นายขวัญชัย อุตตะเวช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง รายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา กว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนสูงถึง 173.50 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 111.94 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำล้นสปิลเวย์ วันละ 9.899 ล้านลูกบาศก์เมตร และทางเขื่อนได้มีการปล่อยน้ำลงสู่คลองชลประทาน และคลองธรรมชาติ เฉลี่ยวันละ 4.590 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น ต.ตะขบ ต.บ่อปลาทอง และ ต.ตูม อ.ปักธงชัย เฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำสาขาของเขื่อนลำพระเพลิง 3 แห่ง ก็มีปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บทั้งหมดแล้ว ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำสำลาย ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 47.36 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 112.75 ของความจุกักเก็บทั้งหมด, อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว มีปริมาณน้ำ 6.98 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 109 ของความจุกักเก็บทั้งหมด และอ่างเก็บน้ำลำเชียงสา มีปริมาณน้ำ 7.88 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 105 ของความจุกักเก็บทั้งหมด โดยทางเจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงนี้ยังคงมีฝนตกลงมาเป็นระยะ ทำให้สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มให้เฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างใกล้ชิดด้วย ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับรายงานและติดตามสถานการณ์ผนังกั้นน้ำอ่างเก็บน้ำลำหินตะโง่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แตก เนื่องจากปริมาณฝนตกต่อเนื่อง และปริมาณน้ำเกินกว่าจะรับได้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ และสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง โดยสั่งการให้หน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และจังหวัด เฝ้าติดตามและแก้ไขโดยด่วน พร้อมทั้งเร่งเตือนประชาชนให้ได้รับรู้ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และการรับมือในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานผลการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยให้นายกรัฐมนตรีทราบทุกระยะ และนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้พร้อมช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนระดมสรรพกำลังพล เครื่องมือ และหน่วยแพทย์ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือและเตรียมพร้อมอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 25 จังหวัด รวม 86 อำเภอ 241 ตำบล 849 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,273 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย (จันทบุรี) บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี และอุทัยธานี สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำท่วมลดลง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ