นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เดินหน้าส่งเสริมการคุ้มครองสินค้าชุมชน “เสื่อกกนาหมอม้า” โดยเตรียมผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดอำนาจเจริญในอนาคต พร้อมลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI แก่ผู้ประกอบการ “ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี” คาดเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนในพื้นที่อีสานใต้ เพิ่มช่องทางการตลาด และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้มแข็งพร้อมขยายตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งผลิตสินค้า “เสื่อกกนาหมอม้า” ณ กลุ่มทอเสื่อกกบ้านนาหมอม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ และประชุมร่วมกับส่วนราชการ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อเตรียมจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ในอนาคต ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ โดยผลิตจากต้นกกในพื้นที่ตำบลนาหมอม้า นำต้นกกมากรีดให้ได้เส้นเล็ก มีความมันวาว แล้วสานเป็นผลิตภัณฑ์จักสานต่างๆ เช่น เสื่อกกลายมัดหมี่ กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน กล่องกระดาษทิชชู่ จานรองแก้ว กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย เป็นต้น จากนั้นนายวีรศักดิ์ ได้เป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี พร้อมตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้า ณ วิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวกล้องปลอดสารบ้านสร้างมิ่ง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยครอบคลุมทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ปลูกในฤดูนาปีเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะเด่นคือเมล็ดข้าวเรียวยาว ข้าวมีสีขาวใสเป็นเงามันวาว เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวนุ่ม และมียางข้าวเหนียวปนเล็กน้อย เนื่องจากมีพันธุ์ข้าวเหนียวเจือปนอยู่ในพื้นที่แปลงนา นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยแล้วทั้งสิ้น 134 รายการ ซึ่งสินค้า GI เหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพและมีลักษณะพิเศษอันเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนทำให้สินค้ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยในการลงพื้นที่อีสานใต้ครั้งนี้ กรมฯ ต้องการผลักดันให้เกิดการคุ้มครองสินค้า GI รายการใหม่ๆ เพื่อยกระดับสินค้าในชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และจะบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำระบบควบคุม ตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป” ทั้งนี้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากระบบการคุ้มครอง GI พร้อมมอบแนวทางการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยชี้ให้เห็นว่าในภาคอีสานมีสินค้า GI หลายรายการที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ จึงมอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีความพร้อมอย่างสูงสุด ซึ่งจะสามารถยกระดับสินค้า GI ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และปลุกเศรษฐกิจชุมชนและของไทยให้ดีขึ้นต่อไป