เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ตุลาคม ที่ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณทางแยกไอทีโคราช ริมคูเมืองข้างวัดพายัพ (พระอารามหลวง) เพื่อเร่งระบายน้ำฝนที่ท่วมขังซ้ำซากบริเวณถนนราชดำเนิน หน้ากองทัพภาคที่ 2 และจวน ผวจ.นครราชสีมา รวมทั้งโรงเรียนเทศบาล 1 (โยธินนิกูล) ด้านข้างค่ายสุรนารี ซึ่งต้องประกาศหยุดเรียนชั่วคราว นายสุรวุฒิ นายก ทน.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผลกระทบจากร่องมรสุมเคลื่อนผ่านทำให้เกิดฝนตกหนักเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (15 ตค.) เวลาเพียง 1 ชั่วโมง วัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 100 มิลลิเมตร ส่งผลให้เส้นทางระบายน้ำฝนที่ตกในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ไม่สามารถระบายน้ำลงลำตะคองได้ทันท่วงที ประกอบกับสวนบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำดิบได้เต็มความจุ แม้นได้พร่องน้ำออก แต่ฝนที่ตกลงมาแทบทุกวัน จึงมีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำระบายไม่ทันเอ่อล้นไหลท่วมบนพื้นผิวจราจรและบ้านเรือนราษฎรที่ตลาดเซฟวัน ชุมชนวัดสวนพริกไทย ชุมชนเดชอุดม ชุมชนโรงต้มพัฒนา ชุมชนท้าวสุระ หน้าจวน ผวจ.นครราชสีมา หมู่บ้านเทคโนวิลเลจ รวมทั้งถนนในเขตเมืองหลายเส้น ฯลฯ ลักษณะน้ำรอการระบาย ซึ่งเป็นภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเย็นวันนี้ การบรรเทาปัญหาได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีความเสี่ยงท่วมขังซ้ำซากรวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์คอยตรวจสอบเฝ้าระวังเส้นทางน้ำไหลที่อาจมีวัชพืชและเศษขยะมูลฝอยอุดตัน เพื่อเร่งระบายน้ำฝนไหลลงลำตะคองให้เร็วที่สุด ทั้งนี้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการระบายน้ำท่วมขังให้รวดเร็วที่สุด ด้านนายชุยธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำดิบในเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 272 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 88 % ของความจุเก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร ยังเหลือพื้นที่รับน้ำ 60 ล้าน ลบ.เมตร โครงการฯ ได้ปิดประตูระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา โดยให้การประปาท้องถิ่นจำนวน 81 แห่ง บริหารจัดการน้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงน้ำที่ไหลล้นตลิ่งมิใช่โครงการระบายน้ำลงคลองน้ำธรรมชาติตามที่มีหลายฝ่ายเข้าใจแต่อย่างใด ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ ได้พร้องน้ำที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) คนชุม ต.ปรุใหญ่ และ ปตร.ข่อยงาม ต.หัวทะเล เพื่อเร่งระบายมวลน้ำในเส้นทางลำตะคองไหลผ่าน เขต ทน.นครราชสีมา ให้เร็วที่สุดและเตรียมรับมวลน้ำฝนที่ตกลงมาเพิ่ม