นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารจะเสนอแผนการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) กับ 7 สายการบินต้นทุนต่ำให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังพิจารณาเห็นชอบ เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป "ข้อเสนอของธนาคารคือ การปล่อยกู้ซอฟท์โลนให้ 7 สายการบิน ซึ่งจะให้กู้เฉพาะในส่วนที่จะไปใช้ในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการจ้างงานต่อ และกู้เพื่อจ่ายค่าน้ำมันเครื่องบินเท่านั้น หากจะให้ปล่อยกู้เพิ่มมากกว่านี้ จะต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาลสั่งการลงมา" นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า การลดภาษีน้ำมันให้ผู้ประกอบการสายการบินต่อนั้น เป็นเรื่องที่ต้องหารือกับกระทรวงการคลังถึงความเหมาะสมและความจำเป็น รวมถึงผลกระทบที่จะมีต่อการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และรายได้ภาพรวมของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) รับข้อร้องเรียนของคณะผู้บริหารระดับสูง 7 สายการบินที่ขอให้รัฐช่วยเหลือใน 3 ประเด็นคือ ประกอบด้วย 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) แก่ผู้ประกอบการสายการบิน วงเงิน 24,000 ล้านบาท 2.ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น ต่อไปอีก 1 ปี จากที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.63 เป็นเดือน ก.ย.64 โดยให้คงภาษีน้ำมันอยู่ที่ 20 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมลิตรละ 4.762 บาท 3.ลดค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆของสายการบินเช่น ค่าธรรมเนียมการลงจอดเครื่องบิน ค่าบริการ (service charge) และค่าธรรมเนียมผู้โดยสารไปจนถึงเดือน ธ.ค.64 สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินต่อไปอีก 1 ปีจากที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.63 เป็นเดือน ก.ย.64 โดยให้คงภาษีน้ำมันอยู่ที่ 20 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมลิตรละ 4.762 บาทนั้น กระทรวงการคลังเคยชี้แจงว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะราคาน้ำมันปรับลดลงมากกว่า 70% แล้ว ทำให้ต้นทุนเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ 7 สายการบินอ้างว่า หากได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวจากรัฐบาลจะช่วยคงการจ้างงานพนักงานกว่า 20,000 คนไว้ได้