หวนกลับมาบรรจบอีกครั้ง กับวันที่คนไทยทั้งประเทศต้องหลั่งน้ำตาแบบไม่ต้องอายใคร กับการจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับใน “การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” (รัชกาลที่ 9 ) ผู้ซึ่งเปรียบเสมือน “พ่อของแผ่นดิน” ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม โดยแม้การจากไปของพระองค์จะจากไปแต่เพียงพระวรกาย แต่สิ่งที่พระองค์ทรงได้กระทำไว้ให้กับคนไทยทุกคนของพระองค์ ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ และยังคงยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้ได้อยู่ดี กินดี อย่างที่พระองค์ทรงมอบไว้เป็นแนวทางให้กับคนไทยทุกคน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ ได้ทรงเป็นผู้คิดค้นพระราชกรณียกิจที่จะให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ โดยพระราชกรณียกิจที่มีบมบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อาทิ “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นหูเพราะเคยได้เรียนรู้และเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่กลับมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจหลักปรัชญาและการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแบบอย่างที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริไว้ “เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง ความไม่ประมาท ไม่ฟุ่มเฟือย คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีใจความสำคัญคือสติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งเป็นบันไดสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ : เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่างๆอย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความสามัคคี ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ : มีอยู่ 2 แบบคือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่นๆสนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตามแม้กระทั่งในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่างๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่างๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้นๆเกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง อีกสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงมีความสามารถที่เกี่ยวกับการสื่อสาร โดยเปรียบเสมือน “พระบิดาแห่งวงการสื่อสารไทย” ซึ่งอย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าทุกพระราชกรณียกิจที่ พระองค์ได้ทรงทำนั้นไม่ได้ทำเพียงเพื่อตัวของพระองค์เอง แต่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยอัฉริยะภาพของพระองค์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการใช้เครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี 1.วิทยุสื่อสาร มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสาร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ และรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การปฏิบัติการฝนเทียมในระยะแรก ได้ประสบปัญหาเรื่องงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ทราบล่วงหน้า การที่ยังไม่มีการติดต่อสื่อสาร ระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน ส่งผลให้การปฏิบัติงานไม่ได้ผลเท่าที่ควร และเมื่อพระองค์ทรงทราบถึงปัญหาการขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน 2.วิทยุกระจายเสียง ในปี พ.ศ.2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุอ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ เมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ.2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระองค์พระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด 3.คอมพิวเตอร์ ใน 2529 ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช พลัส ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ท่านจึงทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมาพระองค์ ไม่เพียงแต่ทรงงานด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ทรงสนพระทัยในการศึกษาเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ บางครั้งได้ทรงเปิดเครื่องออกดูระบบภายในเครื่องด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ขึ้นมาใช้เอง และบางครั้งทรงแก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ในเครื่องเช่น โปรแกรมภาษาไทย CU Writer ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ นอกจากนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท,การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี 4.ดาวเทียม ดาวเทียมไทยคม คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทย ก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า มีการนำดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัย กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร 5.ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยบนคอมพิวเตอร์ ทรงสนับสนุน ให้มีการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2530 หลังจากที่พระองค์ทดลองใช้งานโปรแกรม Fontastic สร้างตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษรูปแบบและขนาดต่างๆ สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการ ประดิษฐ์ตัวอักษรไทย พระองค์ทรงใช้เวลาที่พอว่างจากพระราชกรณียกิจต่างๆในการสร้างตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์เช่น ฟอนต์จิตรลดา,ฟอนต์ภูพิงค์ ฯลฯ ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษร ภาษาอื่นๆเพิ่มขึ้นคือ ภาษาสันสกฤต 6.ตรวจสภาวะอากาศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 ได้เกิดเหตุไต้ฝุ่นแองเจล่า (Angela) ทำความเสียหายให้กับประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะเข้าสู่ประเทศไทย ในเวลาต่อมาทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนประชาชนชาวไทยให้เตรียมระวังอันตรายที่เกิดขึ้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2549 วันที่พระองค์ทรงกำลังเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งเดินสายระบบออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวนี้อยู่ตลอดเวลา ได้พระราชทานความเห็นว่าไม่ควรตระหนกแต่อย่างใดเนื่องจากไต้ฝุ่นได้อ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศเวียดนาม และได้แปรสภาพเป็นความกดอากาศขนาดย่อมเท่านั้น 7.พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ โครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ เพื่อทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถา เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและแม่นยำ รวมทั้งยังสะดวกต่อการเผยแพร่อีกด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534 พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ในชื่อ BUDSIR IV 8.ส.ค.ส.พระราชทานด้วยคอมพิวเตอร์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส.พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส.พระราชทานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2531 โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โทรสาร (แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทาน แต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหา และอุปสรรคต่างๆที่ประเทศไทยต้องประสบ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในปีต่อๆมาหนังสือพิมพ์รายวันได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง อีกพระราชกรณียกิจในเรื่องของการยกระดับการเดินทาง โดยนับเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึกถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยที่สนพระราชหฤทัยระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “การเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)” ที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ซึ่ง ณ สถานที่เดียวกันเมื่อ 108 ปีก่อนหน้านี้คือ เมื่อปี พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯทรงประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกของประเทศไทย ระหว่างกรุงเทพฯ-อยุธยา ณ สถานีหัวลำโพง เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง ขบวนที่ 1 หมายเลขตู้รถไฟฟ้าพระที่นั่ง 1014 โดยประทับยังที่นั่งผู้โดยสารปกติตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงไปยังสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ และกลับมายังศูนย์ซ่อมบำรุงฯ รวมระยะทาง 29 กิโลเมตรและ ณ ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงฯ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยหลายเรื่องเช่น การคืนผิวหลังการก่อสร้างเสร็จ สภาพถนนดีกว่าเดิมหรือไม่ การก่อสร้างที่สถานีสีลมที่ต้องตัดตอม่อสะพานข้ามทางแยกแล้วสร้างตอม่อใหม่บนหลังคาสถานี รวมถึงการแก้ปัญหาจราจร เนื่องจากระยะทางหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นระยะทางที่สั้นเพียง 20 กม.เท่านั้น นอกจากนี้พระองค์ทรงซักถามถึงขั้นตอนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าด้วยความสนพระราชหฤทัย และราคาค่าโดยสารที่จะต้องไม่ทำให้คนไทยเดือนร้อน พระราชกรณียกิจ “โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” ตั้งอยู่ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของพระองค์ ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้โครงการตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาในพื้นที่แห่งนี้สภาพเดิมโดยทั่วไปแห้งแล้งเจ้าของเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสตัดไม้ขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 ไร่แปลงอ้อยประมาณ 30 ไร่ การพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เป็นแปลงยูคาลิปตัสทั้งหมด แต่ปัจจุบันได้จัดสรรทำการเกษตรเป็นอย่างดี มีทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิดอาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศ นอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ก็ยังมีการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผักต่างๆอาทิ แก้วมังกร ชมพู่เพชร กล้วย ฟักทอง กะเพรา โหระพา พริก ฯลฯ มีแปลงปลูกข้าว ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกยางพารา โดยทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหากต้องใช้ก็ต้องมีในปริมาณที่น้อยที่สุดมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวยสวยให้คนที่แวะมาเยี่ยมชม นอกจากนี้ได้สร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัท พระพายเทคโนโลยี จำกัด ร่วมกันออกแบบติดตั้ง กังหันลมและระบบจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 20 ชุด ขนาดกำลังผลิตรวม 50 KW ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทัพบก และได้รับพระราชทานวัวนมจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาเลี้ยงไว้ที่นี่ โดยใช้พื้นที่ใต้กังหันลมเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว ส่งท้ายกับพระราชกรณียกิจ “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งที่มีสาเหตุจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ทั้งนี้ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้งๆที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมี “มาตรการทางวิทยาศาสตร์”ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทยจะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้ ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ.2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาจนทรงมั่นพระทัย ก่อนพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการบนท้องฟ้า กระทั่งในปี พ.ศ.2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว เพื่อให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม พ.ศ.2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก ต่อมาได้มีปฏิบัติการโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้วเข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุตที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วแล้ว และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน ก็ได้รับรายงานยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าว ยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี่ยวหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานให้ไว้กับพสกนิกรของพระองค์ ให้ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถึงแม้พระองค์จะทรงจากไป แต่พระองค์ก็ยังสถิตในดวงใจของคนไทยทุกคน