"บิ๊กตู่"เผย"ครม."ไฟเขียว 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "เพิ่มเงินบัตรคนจน-คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน" พร้อมฝากประชาชนช่วยกันรักษาความสงบบ้านเมือง อย่าทำลายความเชื่อมั่นประเทศ ขณะที่"รมว.คลัง"ประเดิมวันแรก ชู 4 ภารกิจเร่งด่วนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สภาพคล่อง-บริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยว-เร่งเบิกจ่ายรัฐ รับเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอีก 1-2 ปี พร้อมวางแผนระยะยาวเปิดประเทศรับต่างชาติ เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 12 ต.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังคนใหม่ ที่ทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นวันแรก รวมถึง นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า นายอาคม เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้าทำหน้าที่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่าถือเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่วันนี้ ขณะที่การพาทั้ง 3 รัฐมนตรีมาร่วมแถลงด้วยนั้น ให้เห็นทีมเศรษฐกิจเพื่อที่จะต้องการสร้างความมั่นใจกับทุกคนว่าเราจะทำงานอย่างเต็มที่ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้อย่างระมัดระวังที่สุด ให้ครอบคลุมถึงทุกกลุ่ม และขอให้ฟังรายละเอียกเพิ่มเติมในมาตรการต่างๆ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีการอนุมัติหลายเรื่องในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องสำคัญมุ่งเน้นมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา คือการดูแลบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ช่วยคนไทยหลายสิบล้านคนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ ขณะเรื่องที่ประชุมในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) และรัฐบาลกำลังทำ ก็มีทั้งการปรับปรุงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงมาตรการใหม่ๆ ที่ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งต้องทำหลายๆ มาตรการไปพร้อมๆ กัน เป้าหมายหลักคือการช่วยคนมีรายได้น้อยให้พอมีเงินใช้จ่าย ส่วนคนที่มีรายได้มาก คนที่มีเงินแต่ไม่อยากใช้ ออกมาใช้จ่ายด้วย เพื่อดึงเงินให้เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน อย่ารังเกียจรังงอนกัน พร้อมขอบคุณภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมเวิร์คช็อปเสนอความคิดเห็นปัญหาให้รัฐบาลทราบ มีประโยชน์มากที่รัฐบาลจะนำมาวิเคราะห์หาวิธีในการดำเนินการให้เกิดผลสำฤทธิ์โดยเร็ว นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือเราใช้คำว่า "รวมไทยสร้างชาติ" ทุกคนที่เป็นคนไทย เกิดในแผ่นดินไทย จะต้องจับมือร่วมกันทุกภาคส่วน ช่วยกันคิดและช่วยกันทำนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ขณะที่ 3 มาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศซึ่งที่ประชุม ครม.อนุมัติวันนี้ ได้แก่ 1. มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ให้ประชาชน 14 ล้านคน คนละ 1,500 บาท (เดือนละ 500 บาท 3 เดือน) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ 2. มาตรการคนละครึ่ง กระตุ้นการใช้จ่าย โดยประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง รัฐบาลช่วยออกอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อซื้อสินค้าปลีกและช่วยผู้ประกอบการรายย่อย และ3. มาตรการช้อปดีมีคืน ประชาชนนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้ามาลดหย่อนได้ 30,000 บาท โดยเป็นการซื้อสินค้าคงทน ขณะที่เป้าหมายของทั้ง 3 มาตรการ เพื่อดึงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีการใช้จ่ายก็เกิดการผลิต การจ้างงาน ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และเพื่อให้คนซื้อมีเงินซื้อสินค้าและบริการ ส่วนเจ้าของสินค้า คนผลิต เจ้าของร้านค้า ก็สามารถขายของได้ เกิดการซื้อขาย กระจายเงิน ทุกอย่างต้องมองเป็นระบบทั้งหมด จึงควรทำหลายมาตรการไปพร้อมกัน บรรเทาความเดือดร้อนคนไทยให้ได้ "ทุกประเทศกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ หลายประเทศแย่กว่าเรา เรามีศักยภาพอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าทำลายศักยภาพของเราเองด้วยเรื่องที่มันไม่ควรจะทำ ความเชื่อมั่นต่างๆ หายไปจะทำอย่างไร แล้วจะเอาอะไรกลับคืนมา มันเอากลับมาไม่ได้แล้ว ถ้ามันเสียหายตอนนี้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงการแข่งขัน เป็นช่วงการแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 โลกหลังโควิด ถ้าเราทำลายกันตอนนี้ ถึงเวลาเราจะฟื้นกลับมาไม่ได้เลย เพราะเราไม่ทันเขาแน่นอน ก็ฝากไว้ด้วยถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้มากที่สุด ช่วยกันเคารพกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนอื่นแค่นั้นเอง อันนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องสั่งอะไรเพิ่มเติม" วันเดียวกัน ก่อนการประชุม ครม. ที่กระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เดินทางเข้ามากระทรวงการคลังเป็นวันแรก เพื่อเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลและกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีผู้บริหารกระทรวงการคลังเข้าร่วมอย่างพร้อมเพียง โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนในการดูแลขับเคลื่อนเศรษฐกิจมี 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การดูแลแก้ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจที่มีสัดส่วน 80% ของจีดีพีหลังได้รับกระทบจากโควิด-19 2.การฟื้นฟูกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะหลังคลายล็อกดาวน์ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก 3.การฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ต้องดูแลทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ สายการบิน และ 4.การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วน 20%ของจีดีพี ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และผลักดันงบล้างท่อเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว "เศรษฐกิจกิจไตรมาสที่ 1 และ 2 ติดลบกันทั่วโลก ฉะนั้นนอกจากการออกมาตรการระยะสั้น เราต้องดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐให้เพียงพอด้วย ขณะเดียวกันต้องหาแนวทางแก้ไขการใช้เงินภายใต้กรอบฟื้นฟูวงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมถึงซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ออกโดยเร็ว ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น กำลังซื้อภายในประเทศฟื้น ภาระในการใช้เงินกู้ก็จะลดน้อยลงไป" ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากโควิดไปอีก 1-2 ปี ดังนั้นหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการระยะยาว ในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการประชุมสัมมนาต่างๆ โดยไทยจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาว่าไทยมีความพร้อมและปลอดเชื้อโควิด-19 ส่วนปัญหาแทรกแซงทางการเมืองต่อการทำงานไม่ได้กังวล เพราะตนตั้งใจเข้ามาทำงาน