สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์โครงการช้อปดีมีคืน กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นต่อโครงการช้อปดีมีคืนว่าเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุดและขณะนี้ประชาชนไม่มีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อเอาภาษีคืน ดังนั้น ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ต้องมีรายได้ 300,000 ขึ้นไป รวมถึงศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าโครงการดังกล่าวผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใด โดยกระทรวงการคลังขอชี้แจงว่ามาตรการช้อปดีมีคืนเป็น 1 ใน 3 มาตรการ เพื่อรักษาระดับการบริโภคในประเทศ นอกเหนือจากโครงการคนละครึ่งและโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 28 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท และคาดว่าจีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.54 ขณะที่มาตรการช้อปดีมีคืน มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และประชาชนผู้ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากและส่งเสริมการอ่าน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และมาตรการช้อปดีมีคืนเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีไม่มีข้อกำหนดใดๆในเรื่องขนาด ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายล้วนแล้วอยู่ในข่ายที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งสิ้น สำหรับโครงการคนละครึ่ง เป็นอีกโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังที่จะดูแลช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 226,161 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ต.ค.63) ขณะเดียวกันโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคสำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาท/คน/เดือน 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.63) ซึ่งกระทรวงการคลังโอนเงินงวดแรกแล้วเมื่อวัน 8 ตุลาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังดูแลประชาชนทุกคนโดยความสำคัญทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน จะมีการติดตามทุกมาตรการ/โครงการอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ขอให้ติดตามรายละเอียดมาตรการช้อปดีมีคืนภายหลังผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป