สำหรับ มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยความสนับสนุนของบี.กริม บีดีเอมเอส เมืองไทยประกันภัย มูลนิธิเอสซีจี และโรงแรมเมนดาริน โอเรียนตัล เชิญชมคอนเสิร์ตซีรีย์ RBSO 2020 Classical Concert  ครั้งที่ 4  รายการ The Sophistication of Three Geniuses บรรเลงโดยวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า นำเสนอสามบทเพลงมาสเตอร์พีชยุคโรแมนติคและอิมเพรสชั่นนิสอำนวยเพลงโดย Michel Tilkin ผู้อำนวยเพลงชาวเบลเยี่ยม และผู้อำนวยการด้านดนตรีของวง RBSO   ซึ่ง รายการเริ่มด้วย Siegfried Idyll  ผลงานประเภทเชมเบอร์ของริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีเอกชาวเยอรมันยุคโรแมนติค  ดนตรีบรรเลงอย่างเชื่องช้า ท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวานตลอดเพลง เปรียบเสมือนงานศิลปะที่พรรณนาความรู้สึกต่างๆ ผ่านท่วงทำนองเนื้อหาดนตรี แสดงให้ประจักษ์ถึงความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆให้ผู้ฟังได้จินตนาการ  เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ แสดงความรัก ความรู้สึกอันดื่มด่ำที่มีให้กับภรรยา  วากเนอร์ได้นำทำนองเพลงกล่อมเด็กของเยอรมันที่เคยได้ยินในวันส่งท้ายปีเก่า และจดบันทึกไว้มาดัดแปลง และนำเสนออย่างไพเราะด้วยการบรรเลงจากปี่โอโบ  งานชิ้นนี้เขาได้นำมาบรรเลงโดยวงเชมเบอร์ขนาดเล็กเป็นครั้งแรกที่บ้านในช่วงเช้ามืดของวันคริสต์มาส เพื่อมอบให้เป็นของขวัญวันเกิดของภรรยา โดยเขาเป็นผู้อำนวยเพลง  พร้อมกับนำชื่อเล่นและชื่อสกุลของลูกชายที่เพิ่งคลอดมาตั้งเป็นชื่อบทเพลง        ส่วน บทเพลง Le Toimbeau de Couperin ผลงานของโมริส ราเวล คีตกวีชาวฝรั่งเศสยุคอิมเพรสชั่นนิส ประพันธ์ในแบบเพลงชุด (suite) ซึ่งได้รับอิทธิพลในการประพันธ์จากบทเพลงชุดสำหรับคีย์บอร์ดในยุคบาโรก  โครงสร้างของดนตรี และเสียงประสานเป็นการผสมผสานแนวการประพันธ์ตามกระแสคลาสสิกยุคใหม่ (Neo Classicism)  โดยนำไวยากรณ์ รูปแบบความคิดทางดนตรีที่มีแบบแผนของยุคคลาสสิกมาประยุกต์ใช้ ทั้งมีการเติมสีสันให้ฉูดฉาดมากขึ้นด้วยเทคนิคการประพันธ์ตามวิถีของคีตกวีในยุคศตวรรษที่ 20 เปี่ยมไปด้วยสีสัน อันเป็นเอกลักษณ์พิเศษของราเวลที่สร้างสรรค์ได้อย่างยอดเยี่ยม    โดย ราเวลประพันธ์บทเพลงชุดนี้ เพื่ออุทิศให้กับเพื่อนของเขาที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และเสียชีวิต  แม้ว่างานชุดนี้จะเสมือนเป็นการแสดงความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียมากมาย   แต่ดนตรีทั้ง 4 ท่อน  กลับสะท้อนความงดงามและความสง่างาม ซึ่งตรงข้ามกับความโหดร้ายของสงคราม   ราเวลเชื่อว่า ความงดงามเป็นคุณค่าอันนิรันดร์ที่มนุษย์ต้องการจะรักษาไว้ตลอดไป  ดังที่เขาบันทึกไว้ในต้นฉบับงานชิ้นนี้ว่า  ความตายนั้นเศร้าพอแล้ว ชื่อ Toimbeau เป็นภาษาดนตรีของศตวรรษที่ 17  หมายถึงบทเพลงที่อุทิศให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   ส่วน Couperin มาจากชื่อคีตกวีชาวฝรั่งเศสยุคบาโรกผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งราเวลให้การยกย่องอย่างมาก  รายการจบด้วยซิมโฟนีหมายเลข 2 ของฟรานส์ ชูเบิร์ต คีตกวีชาวออสเตรียยุคโรแมนติดตอนปลาย    ขณะที่ ดนตรีเริ่มอย่างยิ่งใหญ่ในจังหวะช้า น่าเกรงขาม บรรเลงโต้ตอบไปมาอย่างรวดเร็วระหว่างกลุ่มเครื่องลมไม้ เครื่องเคาะจังหวะ และกลุ่มเครื่องสายที่โดดเด่นน่าตื่นตาตื่นใจ สลับกับท่วงทำนองอันอ่อนหวาน เขาได้แรงบันดาลใจจากบทโหมโรงดนตรีสำหรับบัลเลย์ของเบโธเฟน  ท่อนที่สองมีการดัดแปลงทำนองหลักเป็นแวริเอชั่นต่างๆ บรรเลงโดยกลุ่มเครื่องสายและกลุ่มเครื่องลมไม้ ทำนองสวยงาม มีสีสัน  ท่อนที่สามมีชีวิตชีวาเหมือนเพลงเต้นรำพื้นเมืองฝรั่งเศส  จบท่อนสุดท้ายในจังหวะเพลงเต้นรำแบบกาล็อป การเต้นรำบอลรูมซึ่งได้รับความนิยมมากในศตวรรษที่ 18 จบลงด้วยดนตรีบรรเลงอย่างรวดเร็ว เปี่ยมไปด้วยพลัง ทั้งนี้ คอนเสิร์ตจะทำการแสดงในวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคมนี้ เวลา 19.30 น. ที่ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 500 บาท ลด 50% สำหรับนักเรียน/นักศึกษา และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จองบัตรได้ที่ ThaiTicketmajor โทร. 0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.comสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานมูลนิธิ RBSO โทร.0-2255-6617-8 / 0-2255-9191-2 Email: [email protected]