“ปรานต์ สยามวาลา” นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ จี้คุมตึกสูงในกรุงเทพฯ ให้เร่งแก้ไขแบบอาคารรับมือแผ่นดินไหว เผย “ผู้เชียวชาญญี่ปุ่น” เตือนนักเรียน 3 ล้านคน จาก 9 พันโรงเรียนเสี่ยงได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 59 นายปรานต์ สยามวาลา นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐ” ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.8 ตามมาตราริกเตอร์ ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ว่า ในอดีตที่เคยเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา แรงสั่นสะเทือนที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับเมียนมา ยังได้รับแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่ากรุงเทพฯ 6-7 เท่า เป็นเพราะผลกระทบจากสภาพดินอ่อนของเมืองหลวงไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับตึกสูงในกรุงเทพฯ เพราะเพียงไม่ถึงนาทีคลื่นแผ่นดินไหวระยะไกลก็มาถึงแล้ว ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ตึกสูงในกรุงเทพฯ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว อย่างที่ญี่ปุ่นเขาทำมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯที่เป็นดินอ่อน แต่เป็นภาคกลางซึ่งที่ลุ่มทั้งหมด เพราะฉนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรการให้มีการแก้ไขปรับปรุงอาคารที่ไม่ได้ออกแบบมารองรับความเสี่ยง นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 ทางสมาคมฯได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญของโลก คือ มิยาโมโตอินเตอร์เนชันแนล ประเมินความสูญเสียที่สำรวจมาพบบ้าน 475 หลัง วัด 138 และโรงเรียน 56 แห่ง ต้องทุบทิ้งไม่สามารถกลับไปซ่อมแซมเพื่อใช้ได้อีก และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จริงๆเราควรจะเรียนรู้จากตรงนี้ มิยาโมโตฯ มองว่ามีเด็กนักเรียนประมาณ3 ล้านคนจาก 9,000 โรงเรียนในประเทศไทยสุ่มเสี่ยงกับตัวอาคารที่ไม่รองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว