เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ถ่ายทอดความรู้และสาธิตการเพาะถั่วงอกคอนโดแก่เกษตรกร ประชาชน นักเรียน และประชาชนทั่วไป เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นที่ หรือมีพื้นที่น้อยในการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ลงทุนน้อย ดูแลง่าย ไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมี ที่สำคัญรับประทานแล้วมีความรู้สึกปลอดภัยกว่าซื้อที่ตลาด นางสาวกนกพร หนองนา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตร อ.กระสัง อธิบายขั้นตอนว่า เม็ดถั่วเขียว 1 กิโลกรัม สามารถเพาะถั่วงอกได้ 5 กิโลกรัม ซึ่งเพาะถั่วงอกคอนโดไม่มีอะไรยุ่งยาก วัสดุที่ใช้ก็หาได้ทั่วไปราคาไม่แพง ได้แก่ ถังน้ำพลาสติก หรือกระถางต้นไม้พลาสติกขนาดพอเหมาะเจาะรูที่ก้น หรือจะใช้ตะกร้า กระจาดพลาสติก ,กระสอบป่าน,ตาข่ายไนล่อน ,เม็ดถั่วเขียว “วิธีการทำขั้นตอนแรกคือนำเม็ดถั่วเขียวล้างให้สะอาดและแช่น้ำไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง จากนั้นนำกระสอบป่าน ตาข่ายไนล่อน ตัดให้มีขนาดเท่ากับภาชนะที่ใช้เพาะถั่วงอก การวางวัสดุอันดับแรกวางกระสอบป่านที่ตัดแล้วอยู่ล่างสุดของในภาชนะ จากนั้นนำตาข่ายไนล่อนวางซ้อนทับอีกที เสร็จจากนั้นก็จะนำเม็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำใส่ลงไปเกลี่ยให้ทั่ว ใช้กระสอบป่านที่ตัดแล้วปิดทับ เสร็จสิ้นในชั้นที่ 1 ชั้นต่อไปก็ทำเหมือนกันไปเรื่อยๆจนเต็มภาชนะที่ใช้เพาะ และชั้นสุดท้ายให้ปิดท้ายด้วยกระสอบป่านที่ตัดแล้ว นำถุงใส่น้ำหรือของที่มีน้ำหนักวางกดทับชั้นบนสุดเพื่อให้ถั่วงอกมีลักษณะอวบอ้วน ไม่สูงต้นเล็ก” นางสาวกนกพร กล่าว เมื่อวางวัสดุตามลำดับแล้วให้นำไปไว้ในที่ทึบแสงหรือปิดหรือคลุมด้วยถุงดำ เพื่อไม่ให้ถั่วงอกได้รับการสังเคราะห์แสง ควรรดน้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือเช้า กลางวัน เย็น เพื่อระบายความร้อนในภาชนะ เป็นระยะเวลา 3 คืน ก็จะได้ถั่วงอกที่ได้จะมีสีขาวอวบน่ารับประทาน ส่วนเวลาจะนำรับประทานก็สามารถใช้มีดตัดรากระหว่างชั้นกระสอบป่านกับชั้นตาข่ายไนล่อนได้เลย สำหรับถั่วงอกคอนโดนอกจากจะเพาะง่ายแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายสูง เช่น ถั่วงอกที่เพาะมาจากถั่วดำหรือถั่วเขียวจะมีวิตามินและเกลือแร่สูง ส่วนถั่วงอกที่เพาะมาจากถั่วเหลืองจะมีโปรตีนและไขมันสูง มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เนื่องจากถั่วงอกมีกรดไฟติกมาก กรดชนิดนี้จะไปแย่งจับแคลเซียม แต่ถ้าอยากจะรับประทาน ก็ควรนำไปต้มหรือทำให้สุกเสียก่อน ขวัญชัย หาญประโคน /บุรีรัมย์