เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่ครม.และคสช.เสนอให้สนช.พิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง โดยพล.อ.ประวิตรชี้แจงต่อที่ประชุมสนช.ว่า เนื่องจากครม.และคสช.มีเจตนารมณ์ เพื่อช่วยให้การทำงานของสนช. เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะหลังจากนี้จะมีกฎหมายที่ จึงต้องเพิ่มจำนวน สนช.ขึ้น ขณะที่นายวิษณุ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมี 3 มาตรา โดยเนื้อหาสำคัญคือมาตรา 3 คือให้แก้ไขมาตรา 6 โดยให้สนช.มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน แต่เพื่อความชัดเจนขออนุญาตเพิ่มอีก 1 มาตราคือมาตรา 4 ข้อความว่า ให้สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนที่จะมีการประกาศใช้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้เป็นสนช.ต่อไป เนื่องจากจะมีกฎหมายหลั่งไหลเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลจำนวน 100 ฉบับ และกฎหมายตามรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ต้องพิจารณาอีก 80 ฉบับ รวมทั้งกฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี 4 เดือน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับที่จะต้องเร่งทำให้เสร็จภายใน 60 วัน “ต้องใช้ผู้คนมาร่วมพิจารณาที่หลากหลาย ความคิด หลายวงการ หลายอาชีพที่จะเข้ามาพิจารณาร่างกฏหมายที่มีความสำคํญและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา จึงจำเป็นต้องเพิ่มสมาชิกสนช.จาก 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน ถือเป็นจำนวนที่พอสมพอควร โดยยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 263 ในบทเฉพาะกาล วรรค1 ว่า ให้สนช.ที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา ส.ส.และวุฒิสภาต่อไป”นายวิษณุ กล่าว จากนั้นสมาชิกสนช.ได้สลับขึ้นมาอภิปรายให้ความเห็นในวาระรับหลักการ ทุกคนเห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวนสนช.จาก 220 คน เป็น 250 คน อาทิ นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า จำนวนสนช. 220 คน ขณะนี้ ห่วงว่า จะมีปัญหาต่อภาระงานที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ ขณะนี้มีกฎหมายรอการสังคายนา 300-400 ฉบับ ดังนั้นจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น 30 คน จะเข้ามาเสริมช่วยแบ่งเบาภาระงานได้ ซึ่งงบประมาณและเบี้ยประชุมที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไร ยังใช้งบประมาณน้อยกว่าสมัยที่มีส.ส.และส.ว.ถึง 1 ใน 3 แต่มีผลงานออกมามากกว่า ดูแล้วไม่ใช่การนำสนช.มาใช้เป็นที่พักพิงให้ใคร หรือว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ หลังจากสมาชิกสนช.แสดงความเห็นวาระรับหลักการครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการดัวยคะแนน 186 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 หลังจากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อพิจารณาวาระสอง เรียงตามมาตรา ตั้งแต่มาตรา 1-4 ก่อนที่ประชุมสนช.จะให้ความเห็นชอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าว ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 189 ต่อ 0 งดออกเสียง 3