สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับ อบจ.อ่างทอง “ตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ” ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน ให้เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพยิ่งขึ้น เน้นตั้งคลังกายอุปกรณ์ รวมถึงปรับสภาพบ้านคนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ที่องค์การบริหารส่วนจังหวังอ่างทอง วันที่ 6 ตุลาคม 2563 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดพิธีลงนามในข้อตกลง (MOU) ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด โดยมี นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง พร้อมนี้มี นายแพทย์ศรีศักดิ์ ตั้งจิตธรรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า สปสช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับบุคคลในพื้นที่ได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนหนึ่ง สมทบกับเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีกส่วนหนึ่งในจำนวนที่เท่ากัน เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในเขตพื้นที่จังหวัดได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อสุขภาพจากหน่วยบริการ สถานบริการ หรือองค์กรอื่นๆ รวมทั้งได้รับเครื่องช่วยกายอุปกรณ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ ในกรณีที่มีผลการตรวจวินิจฉัย หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะที่จำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามหลักเกณฑ์และรายการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศกำหนด สำหรับงบประมาณในการดำเนินงาน สปสช.เขต 4 สระบุรีได้สนับสนุนงบประมาณตามจำนวนประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดอ่างทอง มีประชากรสิทธิบัตรทอง จำนวน 188,345 คน โดยสนับสนุนงบประมาณ 5 บาทต่อประชากร เป็นจำนวนเงิน 941,725 บาท ขณะที่ อบจ.อ่างทอง ต้องสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เท่ากันหรือมากกว่า ซึ่งปี 2564 อบจ.อ่างทอง ได้สมทบเงินกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนเงิน 950,000 บาท งบประมาณปี 2564 กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.อ่างทอง รวม 1.89 ล้านบาท โดยการดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.อ่างทอง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูฯ อบจ.อ่างทอง นั้น นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง ได้แสดงความจำนงค์ในการเข้าร่วมดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสรรถภาพฯ หวังเพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในจังหวัดอ่างทองให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น นายสุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง กล่าวว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวอ่างทอง การดำเนินงานในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพคนพิการ ผู้สูงอายุ จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนจังหวัดอ่างทอง ด้าน นายแพทย์ศรีศักดิ์ ตั้งจิตธรรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ประชาชนในจังหวัดอ่างทองในครัวเรือน 5 คนจะมี 1 ที่เป็นผู้สูงอายุ 1 คน และผู้สูงอายุ 100 คน จะมีประมาณ 2% ที่มีปัญหาสุขภาพกายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและมีการเจ็บป่วยต่างๆนานๆ อีกส่วนที่สำคัญจากกองทุนฟื้นฟูฯนี้คือการเติมเต็มในส่วนของการปรับปรุงสภาพบ้าน ซึ่งครอบคลุมรวมถึงผู้สูงอายุประมาณ 20% หรือเกือบห้าหมื่นคน ที่สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการและผู้นำชุมชน อสม. ร่วมกันดูแล ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯอบจ.อ่างทอง นี้จะเน้นการจัดการกายอุปกรณ์ให้เป็นคลังอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ เพื่อให้ยืมอุปกรณ์ ส่วนการปรับสภาพบ้านผู้สูงอายุและคนพิการที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณ ซึ่งกองทุนนี้จะสามารถนำมาเสริมเติมเต็มได้อย่างดี และขอบคุณ สปสช.เขต 4 และ อบจ.อ่างทอง ที่ร่วมกันจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าว นายแพทย์ชลอ กล่าวต่อว่า กองทุนฯนี้ เป็นตัวเสริมเพื่อให้เกิดบริการมากขึ้น สามารถนำไปจัดบริการได้หลากหลาย เช่น การอบรมการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลคนพิการ การสนับสนุนกายอุปกรณ์ที่ระบบปกติเบิกไม่ได้แต่มีความจำเป็น เช่น รถโยก หรือคลังอุปกรณ์ เช่น ถังออกซิเจน เตียงลม เตียงสำหรับคนพิการ หรือเกี่ยวกับเชิงสังคม เช่น การปรับสภาพบ้านคนพิการ ทางลาด ราวจับในห้องน้ำ รวมถึงเพิ่มการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการหรือคนชายขอบ ซึ่งกิจกรรม โครงการต่างๆนั้นจะต้องผ่านมติที่ประชุมจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.อ่างทอง โดยในปี 64 มีงบตั้งต้นเกือบ 1.9 ล้านบาท ทั้งนี้การดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ ในพื้นที่เขต 4 สระบุรี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มี อบจ.ที่เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ อบจ.สระบุรี อบจ.พระนครศรีอยุธยา อบจ.สิงห์บุรี อบจ.อ่างทอง ส่วน อบจ.นนทบุรี จะมีพิธีลงนาม MOU ในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 นี้ที่ อบจ.นนทบุรี