เมื่อวันที่ 2 ต.ค.63 ที่สถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พ.ต.อ.ธีรวัจน์ ขจรเกียรติภาส ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ เพื่อทวงถามความคืบหน้าและขอให้ตำรวจเร่งส่งฟ้องคดี ตามความผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ก่อนจะหมดอายุความสิ้นปีนี้ นายคำรณ กล่าวว่า จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา26 และประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ตรวจสอบพบกระทำความผิด เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 จนขณะนี้ ผ่านมานานกว่า5 ปี จนคดีใกล้จะหมดอายุความ ภายในสิ้นปี 2563 นี้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังไม่ได้ส่งฟ้องคดีและดำเนินการใดๆ “ทางเครือข่ายฯ มีความกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะความล่าช้าของตำรวจที่ยังไม่ทำเรื่องสั่งฟ้อง และอายุความใกล้จะหมด เกรงว่าหากขั้นตอนยังล่าช้า จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้ แต่หากคดีนี้เร่งนำตัวผู้ทำผิดมารับโทษตามกฎหมายได้ จะถือเป็นกรณีตัวอย่างทำให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก กฎหมายต้องบังคับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ไม่ถูกครหาว่าเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจที่ทำผิดกฎหมาย มุ่งจับแต่รายเล็กรายน้อย” นายคำรณ กล่าว ด้านนายชูวิทย์ กล่าวว่า สำหรับความผิดของนายทุนน้ำเมา และห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ ที่คดีผ่านมานานกว่า 5 ปีไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งสิ้น 5 คดี ได้แก่1.คดีอาญาที่ 846/63 บริษัท ธนเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด (19 ตุลาคม 2558 ) 2.คดีอาญาที่ 886/63 บริษัทสิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด (19 ตุลาคม 2558 ) 3.คดีอาญาที่ 867/63 บริษัทไทยเอเซียแปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (19 ตุลาคม 2558 ) ทั้งสามคดีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 26 ว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ 4.คดีอาญาที่ 865/63 ลานเบียร์ลีโอ เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ ( 30 ธันวาคม 2561 ) ความผิดตามมาตรา 32 และ5.คดีอาญาที่ 852/63 บริษัทเซ็นทรัลฟู้ดรีเทล จำกัด เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ (29 เมษายน 2562 ) ความผิดตามมาตรา 30(5) และ มาตรา 32 ซึ่งจะเห็นได้ว่า3คดีแรก กำลังจะหมดอายุความ ซึ่งการที่เครือข่ายฯมาทวงถามความคืบหน้า เพื่อเตือนความจำว่าผู้บังคับใช้กฎหมายต้องตรงไปตรงมา ไม่เพิกเฉยหรือเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน ซึ่งเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดและหากไม่มีการดำเนินการใดๆปล่อยจนหมดอายุความ จะนำข้อมูลร้อง ปปท. ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ฉลากที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องไม่มีข้อความ 2 ประเภท คือ1.ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น ข้อความที่เป็นเท็จ เกินความจริง ข้อความที่ก่อให้เกิดความแตกแยก 2.ข้อความอวดอ้างสรรพคุณ มีรูปดารา นักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียง หรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงโดยอ้อม และไม่ว่าข้อความจะอยู่ในขวด กระป๋อง หรือวัสดุใดที่ห่อหุ้ม ต้องห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดใดๆที่เชิญชวนให้ซื้อมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ที่ออกมาในปีพุทธศักราช 2558 ไม่ได้ห้ามหรือเป็นอุปสรรคทางการค้า แต่เป็นการห้ามกรณีที่มีถ้อยคำหรือข้อความที่ไม่เป็นธรรม อวดอ้างให้ดื่มโดยตรงโดยอ้อม เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค หากยังมีการผลิตหรือนำเข้า ตามประกาศฉบับใหม่ ต้องมีโทษจำคุก1ปี ปรับ1แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ พ.ต.อ.ธีรวัจน์ ขจรเกียรติภาส ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายอย่างเคร่งครัดภายในอายุความแน่นอน ทั้งนี้ในจำนวน5คดีนั้น ดำเนินการไปแล้ว3 คดี ส่งหลักฐานไปที่สคอ.เปรียบเทียบปรับ ส่วนอีก2คดี อยู่ระหว่างการออกหมายเรียกมารับทราบและแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งนัดหมายกับพนักงานสอบสวนวันจันทร์ที่5ต.ค. ทั้ง2บริษัทรับรู้รับทราบแล้ว และยินดีเข้ามาพบพนักงานสอบสวน “ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเลือกปฏิบัติ ขอยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สภ.ภาค 1 ให้ความสำคัญ ติดตามดำเนินคดี ตามพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตลอด เราให้ความเป็นธรรมทั้ง2ฝ่าย และคดีทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จภายในอายุความแน่นอน ซึ่งจะสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคมนี้” พ.ต.อ.ธีรวัจน์ กล่าว