ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททรงตัวในกรอบแคบตลอดในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ในภาพรวมยังเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ตามปัจจัยในประเทศและสัญญาณขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ เงินบาทสามารถลดช่วงอ่อนค่าลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ตามจังหวะการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค แต่กรอบการฟื้นตัวของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ กลับมามีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยหลังมีรายงานว่า ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19 โดยในวันศุกร์ (2 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.60 ใกล้เคียงระดับ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ก.ย.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นทางการเมือง และบทสรุปของมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ของสหรัฐฯ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.และปัจจัยทางการเมืองของไทย ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนก.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 15-16 ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามข้อมูล PMI ภาคบริการของประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,237.54 จุด ลดลง 0.59% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,518.94 ล้านบาท ลดลง 3.27% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.33% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 320.87 จุด ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคารและพลังงาน โดยมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ก่อนจะปรับตัวลงในเวลาต่อมาตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หุ้นไทยร่วงลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ทิศทางเดียวกับหุ้นต่างประเทศหลังมีรายงานข่าวว่าปธน.ทรัมป์ ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกระตุ้นความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเพิ่มแรงขายในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,220 และ 1,200 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,250 และ 1,260 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. และประเด็นการเมืองของไทย ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ และประเด็น Brexit ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ ประกอบด้วย บันทึกการประชุมเฟด (15-16 ก.ย.) ดัชนี PMI Composite เดือนก.ย. ของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนก.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน และยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของยูโรโซน