รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์ให้ความเห็นผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า...2 วันที่ผ่านมา ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการจัดทริปให้ชมรมผู้เกษียณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปทัศนศึกษาที่จังหวัด ราชบุรีและเพชรบุรี กิจกรรมหนึ่งในทริปนี้คือการเข้าเยี่ยมชม โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความเสื่อมโทรมของป่าชายเลน ที่เกิดจากน้ำเสีย และขยะต่างๆ ที่ปล่อยลงมาในบริเวณป่าชายเลน เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านที่จำเป็นต้องอาศัยป่าชายเลนเป็นที่ทำมาหากิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยร่วมมือกับกรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่แหลมผักเบี้ย เพื่อบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ เช่นการใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสง เพื่อเติมออกซิเจน ให้กับจุลินทรีย์ เพื่อไปย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย การใช้ระบบพืชและ หญ้ากรองน้ำเสีย และการกำจัดขยะด้วยกล่องคอนกรีต ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย โครงการนี้ทำให้ป่าชายเลนบริเวณแหลมผักเบี้ยและแม่น้ำเพชรบุรีฟื้นฟูกลับมา ทำให้ชาวบ้านสามารถกลับมาทำมาหากินมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่พักพิงของนกนานาชนิดซึ่งมีเป็นจำนวนมาก หลายจังหวัด รวมทั้งธุรกิจเอกชน ได้นำ model แหลมผักเบี้ยไปใช้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้พร้อมๆกัน ก่อนเข้าชมพื้นที่จริง คณะได้ชมวิดีโอแนะนำโครงการ ภาพที่ประทับใจในวีดิโอ ทำให้หลายคนน้ำตาซึม คือภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงบรรยายการดำเนินงานของโครงการแหลมผักเบี้ย ให้เด็กนักเรียนโรงเรียนไกลกังวลฟังด้วยพระองค์เอง ทุกคนมีความรู้สึกเดียวกันคือ นักเรียนเหล่านี้ช่างโชคดีเหลือเกิน ที่ได้ฟังการบรรยายอย่างใกล้ชิดจากพระองค์เช่นนั้น โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย เกิดขึ้นได้จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการ(integration)ระหว่างหน่วยราชการ ที่ปกติทำงานแบบแยกส่วน ตัวใครตัวมัน และสำเร็จได้ด้วยแรงศรัทธาของผู้ปฏิบัติงานต่อพระองค์ท่าน ก่อนที่คำว่าบูรณาการจะเป็นที่นิยมแพร่หลาย ใช้กันเกร่อ การเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยอมรับได้ หากมีการพูดจากันแบบเป็นเรื่องเป็นราว และเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้ การจะให้ทำตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้โดยคิดกันเองฝ่ายเดียว ไม่ได้ฟังความเห็นจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยเลย ใช่เป็นวิธีการทำงานแบบเผด็จการหรือไม่ การจะให้ผู้ใดก็ได้ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ และให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาโทษพระมหากษัตริย์ได้ หรือแม้แต่การให้ยกเลิกองคมนตรี เพราะไม่มีความจำเป็น เป็นสิ่งที่ผู้เรียกร้องคิดกันเอง เออออกันเอง ใช่เป็นการเรียกร้องที่เกินเลยไปหรือไม่ เคยถามผู้อื่นที่ไม่ใช่พวกตัวบ้างหรือเปล่า การเปลี่ยนแปลงแบบนี้เหมาะสมกับประเทศไทยแล้วหรือ เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงแล้ว โครงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เช่นโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย จะยังคงเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากมีการเหตุใช้ผลกันด้วยความจริงใจ แทนที่จะใช้ความเชื่อของตัวเองเป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงหรือจะเรียกว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้คือการกล่าวหาพระมหากษัตริย์โดยปราศจากข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อสถาบัน การใช้วาจาและการกระทำที่เสียดสี ย่ำยี สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลทางการเมือง สิ่งที่จะอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้มากที่สุดก็คือ การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบ สาธารณรัฐ หากยังคงดึงดันจะทำให้ได้ ประชาชนที่เป็นพลังเงียบ อาจลุกขึ้นมาต่อต้าน จนประเทศไทยลุกเป็นไฟขึ้นมาก็ได้หรือเขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น??