สุดอลังการนางรำ 7 ชนเผ่า ร่วมพิธีศักดิ์รำบูชาพระธาตุพนม​ สืบสานประเพณีโบราณ บูชาพระอุรังคธาตุ หนุนเที่ยวออกพรรษา
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย ดร.ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม เขต 3 พรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐเอกชน พุทธศาสนิกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึง นางรำจากพื้นที่ 12 อำเภอ รวม 7 ชนเผ่า กว่า 500 คน ร่วมพิธีถวายเครื่องสักการะบูชา ต่อองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี บรมเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคะธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์พระธาตุพนม ก่อนที่จะทำพิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม ของสาวงาม 7 เผ่า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถือเป็นประเพณีโบราณ ที่สืบทอดกันมาแต่อดีต จัดขึ้นทุกปีในช่วงวันออกพรรษา เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อกันว่า เป็นสิริมงคล จะทำให้ประชาชน มีความสุข บ้านเมือง เจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งจะมีการรำบูชาของแต่ละชนเผ่า ก่อนที่จะมีการรำรวมเป็นชุดเดียวกัน และชุดสุดท้าย จะเปิดโอกาสให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ร่วมรำบูชา เป็นสิริมงคล สำหรับการรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถือเป็นประเพณีโบราณ ที่มีการริเริ่มฟื้นฟูขึ้นตั้งแต่ปี 2527 ในช่วงงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ จนกระทั่งมีการพัฒนาสืบสานเป็นประเพณีสำคัญมาถึงปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมประเพณี อันดีงามของชาว จ.นครพนม โดยทุกปีจะจัดขึ้นในช่วงเช้าของวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟในช่วงเย็น ส่วนการรำบูชาองค์พระธาตุพนม ประกอบด้วย การรำทั้งหมด 7 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 รำตำนานพระธาตุพนม โดยอำเภอธาตุพนม ชุดที่ 2 รำศรีโคตรบูรณ์ โดยอำเภอ ปลาปาก และ อำเภอศรีสงคราม ชุดที่ 3 รำผู้ไทย โดย อ.เรณูนคร และ อ.บ้านแพง ชุดที่ 4 รำหางนกยูง โดย อ.เมือง และ อ.นาทม ชุดที่ 5 รำไทญ้อ โดย อ.ท่าอุเทน อ.นาหว้า และ อ.โพนสวรรค์ ชุดที่ 6 รำขันหมากเบ็ง โดยอำเภอนาแก และ อ.วังยาง ส่วนชุดที่ 7 จะเป็นการรำรวมทุกชนเผ่า ในชุดรำเซิ้งอีสาน