นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเตรียมหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปในรายละเอียดก่อนเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ(ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค.63 โ ดยแนวทางเบื้องต้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะเน้นให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการหรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆที่มีความชัดเจน ถูกต้องและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้ผลที่ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาต้องชัดเจน ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเคยทำมาแล้วในเรื่องบุคคลธรรมดา “กระทรวงการคลังพยายามออกแบบหลายมาตรการให้ถูกฝาถูกตัว เพราะเป้าหมายหลักคือต้องการดูแลเศรษฐกิจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี งบประมาณ รายจ่าย สินเชื่อ โดยที่ผ่านมาแนวโน้มเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือกลุ่มต่างๆที่จะทำหลังจากนี้ต้องเริ่มทำให้ถูกฝาถูกตัว” ทั้งนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆมาหารือ เพื่อให้ สศค. นำแนวทางทั้งหมดไปวางแผนให้ชัดเจน เพื่อดำเนินการในระยะต่อไป ไม่เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงระยะกลางและระยะยาวด้วยว่าควรจะมีมาตรการอะไรบ้าง เพื่อนำข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงานมาพิจารณาการทำมาตรการของกระทรวงการคลังที่ออกมาแล้วจะต้องเดินหน้าได้จริง ต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง สำหรับความกังวลปัญหาหนี้สาธารณะนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันชัดเจนว่าแผนการกู้เงินของรัฐบาลในช่วง 5 ปีจะไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศขยายตัวเกิน 60% ของ GDP โดยจากประมาณการพบว่าสูงสุดจะอยู่ที่ 57% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และกรอบความยั่งยืนทางการคลังตลอด 5 ปีจากนี้ไป ส่วนงบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% ของ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับระดับปกติที่ผ่านมาที่งบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ 2.8-2.9% ของ GDP ส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.67 ล้านล้านบาท ภายใต้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2564 ที่ สศค.ประเมินว่าจะขยายตัวที่ 4-5% โดยทุกหน่วยงานยืนยันว่าสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะมีขั้นตอนและวิธีการที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าปีงบประมาณ 2564 จะเป็นปีที่ยากลำบากในเรื่องการจัดเก็บ แต่ผู้บริหารกระทรวงการคลังยืนยันการจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน ส่วนการเบิกจ่าย ได้พยายามเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ ทั้งรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการทั้งหมด เพื่อรักษาบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามทำคือ ดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปได้ตามแผน เพราะตัวเลขรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ต่ำกว่าตัวเลขการจัดเก็บจริงในปีงบประมาณ 2562 อยู่แล้ว ส่วนปีงบประมาณ 2563 คงไม่ต้องพูดถึง เพราะมีเหตุเข้ามากระทบ โดยปีงบประมาณ 2564 สศค.มองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น หากเศรษฐกิจโตได้อย่างที่คิดก็มีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้พร้อมทำงานกับทุกคนที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง หลังมีกระแสข่าวว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคม จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง เชื่อว่าบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็น รมว.คลังคนใหม่เป็นบุคคลที่มีความสามารถ ซึ่งในส่วนของนายอาคม ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจด้านเศรษฐกิจและใกล้ชิดกับภาคเอกชนด้วย