สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก (IMD World Digital Competitiveness Ranking) ประจำปี 2563 โดยในภาพรวมประเทศไทยถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 อันดับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกประเทศจะสามารถรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจาก การที่ประเทศต่าง ๆ จะรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันให้คงที่หรือถูกจัดอันดับให้ดีขึ้นเพียง 1 อันดับ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะนั่นหมายถึงการที่ประเทศนั้นจะต้องเร่งพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกด้านให้ก้าวหน้าเท่าทันกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งล้วนยกให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลักสำคัญ (Backbone) ในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น จึงเป็นที่น่ายินดีว่า “ประเทศไทย เราทำได้” ทั้งนี้ การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลนั้น IMD ประเมินจากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) 2. ด้านเทคโนโลยี (Technology) และ 3. ด้านความพร้อมรองรับอนาคต (Future readiness) ปัจจัยหลักที่ดีขึ้นและช่วยยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี (Technology) และปัจจัยด้านความพร้อมรองรับอนาคต (Future readiness) โดยปี 2563 ดีขึ้นจากปีที่ 2562 อย่างก้าวกระโดดถึง 5 อันดับ ทั้ง 2 ปัจจัย โดยอยู่ในอันดับที่ 22 และอันดับที่ 45 ตามลำดับ เป็นการสะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผ่านกองทุนดีอี การผลักดันเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเตรียมความพร้อม Disruptive Technology ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐสู่การที่ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลภาครัฐไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และการผลักดันนโยบายและแผนด้านดิจิทัลในประเด็นต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยหลักด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ซึ่งเป็นอันดับเดิมของปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาด้านองค์ความรู้ แต่หมายถึง เราพัฒนา แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่คงตัว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ชี้เป้าให้ประเทศไทยจะได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัจจัยดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศ (TMA) ซึ่งเป็น Partner ที่สำคัญของสถาบัน IMD ในการร่วมกันยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและติดตามผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน IMD อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการที่ท่านรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวข้างต้น กระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุกปัจจัยหลักอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริง และสะท้อนออกมาในผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้ดีขึ้นในทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับปรุงจากผลการจัดอันอันดับความสามารถในการแข่งขันในครั้งนี้อยู่ที่ปัจจัยย่อยด้านระดับและคุณภาพของการศึกษาและการฝึกอบรม (Training and education) ในหมวดของปัจจัยหลักด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ซึ่งปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 ลดลง 5 อันดับจากปี 2562 และปัจจัยย่อยด้านความสามารถในการปรับตัวของภาคธุรกิจ (Business agility) ในหมวดของปัจจัยหลักด้านความพร้อมรองรับอนาคต (Future readiness) ซึ่งปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ลดลง 14 อันดับจากปี 2562 แสดงให้เห็นว่า การผลักดันด้านคุณภาพการศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างทักษะดิจิทัลของประเทศไทย และการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวด้านดิจิทัลของภาคธุรกิจยังไม่เพียงพอ จึงเป็นประเด็นที่กระทรวงดีอีเอสต้องให้ความสำคัญ โดยปัจจุบัน สดช. เร่งส่งเสริมการเรียนรู้ การค้าขายแบบ e-commerce และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยและตอบรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ สดช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนดิจิทัล เช่น การส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Re-skill) และการพัฒนากำลังคนด้วยการเสริมทักษะใหม่ (Up-skill) ผ่านการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะดิจิทัล และหลักสูตรผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงสำหรับผู้บริหารภาครัฐ (CIO) อีกทั้ง สดช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและสร้างกำลังคนดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เห็นได้จากการที่ สดช. ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงาน การมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป