ลำพังประเทศคู่สงครามที่เป็นชาติเล็กๆ สู้รบกันแบบสองต่อสอง ก็คงจะใช้เวลาไม่นานสักเท่าไหร่ เหตุการณ์ความรุนแรง ก็คงจะสงบคลี่คลาย แต่เมื่อมีนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับชาติมหาอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อไหร่ ไฟสงครามที่ว่า ก็มีทีท่าว่า อาจจะยากที่จะดับมอดลงไปได้ สำหรับ สงครามการสู้รบระหว่าง “อาร์เมเนีย” กับ “อาเซอร์ไบจาน” สองประเทศ ซึ่งเคยเป็นดินแดนบริวารของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซียใน “ภูมิภาคเอเชียกลาง” ที่กำลังทำศึก ละลงเลือด กัน ณ เวลานี้ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงทั้งสองชาติ ก็ต้องบอกว่า เป็นคู่พิพาทกันมานานนับร้อยปีแล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่การสงครามล่าสุด หวนกลับ “เสียงปืนแตก” กันอีกรอบเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ภายหลังจากข้อบาดหมางถูกกระตุกกระตุ้นต่อมพิพาทระหว่างกัน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2020 (พ.ศ. 2563) เป็นต้นมา ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งทางดินแดนที่ชื่อว่า “นากอร์โน-คาราบัค” อันเป็นภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งถ้าว่าถึงการยอมรับจากนานาชาติแล้ว ต่างก็ว่าเป็นดินแดนของ “อาเซอร์ไบจาน” ตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัส ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยพื้นที่ราว 4,400 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,700 ตารางไมล์ ทว่า มามีปัญหาเพราะประชาชนผู้พำนักอาศัยใน “นากอร์โน-คาราบัค” ส่วนใหญ่เป็น “อาร์เมเนียน” คือ ชาวอาร์เมเนีย ใช่แต่เท่านั้น ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ประชาชนชาวแว่นแคว้นแห่งนี้ ก็แตกต่างจากประชาชนชาวอาเซอร์ไบจานกันอย่างลิบลับ เพราะรากเหง้าทางศาสนาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นเอง โดยประชาชนชาวอาเซอร์ไบจาน ในประเทศอาเซอร์ไบจาน ส่วนใหญ่นับถือ “ศาสนาอิสลาม” และส่วนมากก็เป็น “มุสลิมนิกายชีอะฮ์” ขณะที่ ชาวอาร์เมนียใน “นากอร์โน-คาราบัค” แห่งนี้ นับถือ “ศาสนาคริสต์” เหมือนกับประชาชนทั่วไปในประเทศอาร์เมเนีย ด้วยความแตกต่างอย่างห่างกันไกลข้างต้น ก็ส่งผลให้เกิด “ขบวนการปลดแอก” จากชาวอาร์เมเนียใน “นากอร์โน-คาราบัค” กันขึ้น เพื่อแยกดินแดนเป็นประเทศต่างหากออกจากการปกครองของทางการ “บากู” รัฐบาลส่วนกลางของอาเซอร์ไบจาน นั่นเอง โดยขบวนการปลดแอกดังกล่าว ได้สถาปนาดินแดนของพวกเขาขึ้นมาว่า “สาธารณรัฐอาร์ทซัค” ซึ่งขบวนการแห่งนี้ ประกอบด้วยหลายปีก ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “ปีกทางการเมือง” ที่ขับเคลื่อนทางการเมือง และ “ปีกทางการทหาร” คือ กองกำลังติดอาวุธของพวกเขา ในการต่อสู้กับทางการอาเซอร์ไบจาน ผ่านอุดมการณ์แยกดินแดนเป็นเอกเทศจากอาเซอร์ไบจาน และก็เป็นที่แน่นอนจากทรรศนะของบรรดานักวิเคราะห์ที่ฟันธงว่า นับตั้งแต่การก่อตั้ง “ขบวนการปลดแอก” ลากลามไปจนถึงการขยับสถานะจนกลายเป็น “สาธารณรัฐ” ข้างต้น ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากอาร์เมเนีย ชาติเพื่อนบ้านคู่ปรับ สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่ทางการบากู รัฐบาลกลางอาเซอร์ไบจาน ที่เห็นว่า ไม่ผิดอะไรกับบ่อนทำลายความมั่นคงของอาเซอร์ไบจานอย่างรุนแรงที่สุด ทางด้านสถานการณ์การสู้รบจากทั้งสองฝ่าย ต่างขนระดมอาวุธหนัก เช่น ปืนใหญ่ เป็นต้น ระดมยิงใส่ รวมถึงใช้ปฏิบัติการทางอากาศจากฝูงบินรบต่างๆ ทั้งนี้ ฉากการสู้รบปรากฏว่า ได้ลากพานานาชาติที่เกี่ยวข้อง ถึงขนาดเกิดการยิงปะทะ จนสร้างความสูญเสียให้บังเกิดกันแล้วขึ้นด้วย อย่างกรณีที่มีรายงานว่า เครื่องบินขับไล่แบบ “เอฟ-16” ของกองทัพอากาศตุรกี ยิงใส่เครื่องบินขับไล่ แบบ “ซู-25” ของกองทัพอากาศอาร์เมเนีย จนร่วงพื้น ส่งผลให้นักบินของอาร์เมเนีย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วย อย่างไรก็ดี ทางการตุรกียังคงปฏิเสธต่อการรายงาน ที่เป็นข้อกล่าวหาข้างต้น นอกจากตุรกีแล้ว ก็แน่นอนว่า ย่อมต้องมี “รัสเซีย” ในฐานะอดีตพี่เบิ้มเก่าของทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานด้วย โดยรัสเซียมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นทั้งกับอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเคยอดีตดินแดนบริวารครั้งสหภาพโซเวียตรัสเซียนั้น เป็นช่องทางหนึ่งของการขยายอิทธิพลของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ณ เวลานี้ ทดแทนภูมิภาคยุโรปตะวันออก ที่ถูกสกัดกั้นอย่างรุนแรงจาก “นาโต” องค์การความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศของมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ทั้งนี้ รัสเซีย ได้เป็นผู้นำการสถาปนาองค์การความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางอีกต่างหากด้วย มีชื่อว่า “องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน” หรือ “ซีเอสทีโอ” ซึ่งครั้งหนึ่งอาเซอร์ไบจานก็เคยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ก่อนที่จะลาออกมาเมื่อปี1999 (พ.ศ. 2542) ทว่า ถึงแม้อาเซอร์ไบจาน ตบเท้าออกจากองค์การนี้ไป แต่สัมพันธ์กับรัสเซีย ก็ยังคงแนบแน่น ส่วนอาร์เมเนีย ก็เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัสเซียเช่นกัน สะท้อนให้เห็นได้จากกิจกรรมล่าสุด นั่นคื การเข้าร่วมซ้อมรบกับรัสเซีย และชาติพันธมิตรอื่นๆ เช่น เบลารุส อิหร่าน จีน ปากีสถาน และเมียนมา ภายใต้รหัส “คอเคซัส 2020” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับ “อิหร่าน” ก็พยายามเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคแห่งนี้เช่นกัน จนถึงขนาดมีรายงานว่า รถบรรทุกสัญชาติอิหร่าน ระดมขนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตีตราว่า ผลิตจากประเทศรัสเซีย เข้าไปในภูมิภาคแห่งนั้นกันมาแล้ว ซึ่งรายงานก็ระบุว่า ทางอิหร่านเลือกยืนเคียงข้างอาเซอร์ไบจาน ในฐานะมุสลิมนิกายชีอะฮ์ด้วยกัน ท่ามกลางการปฏิเสธอย่างเสียงแข็งจากทางการเตหะราน นอกจากนี้ ก็ยังมี “สหรัฐอเมริกา” ที่พยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียกลางนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานว่า จากเหตุสงครามการสู้รบครั้งนี้ สหรัฐฯ พยายามแสดงบทบาทสนับสนุนให้ทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน กลับขึ้นเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง ผ่าน “องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป” หรือ “โอเอสซีอี” ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของดินแดนแห่งนี้ ซึ่งถูกกำหนดว่า ภูมิภาคตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัส ถือว่า มีความสำคัญในฐานะเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซสู่ตลาดพลังงานโลก ที่ความมั่นคงจำต้องมีเสถียรภาพด้วยประการทั้งปวง