"ผู้เชี่ยวชาญ"ชี้ครูทำร้ายเด็กสะท้อนอำนาจนิยมในโรงเรียน กับระบบที่ล้มเหลว ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจ พัฒนาการเด็ก นำไปสู่โรคซึมเศร้า ชงสร้างระบบความปลอดภัยในโรงเรียน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมตรวจสอบด้าน พม. ส่งนักจิตวิทยาฟื้นฟูทั้งระยะสั้นและระยะยาว เข้าร่วมในกระบวนการกล่าวโทษ ขณะที่“ผู้ปกครองโรงเรียนสารสาสน์” ลั่นหาก รร.ไม่ปรับก็ควรปิด หยุดปล่อยเด็กเผชิญชะตากรรมอันตราย ​ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก...เมื่อโรงเรียนไม่ปลอดภัยและเด็กถูกทำร้าย” จัดโดย มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ​แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ“เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงให้อยู่ในสภาพความรุนแรง จะมีผลกระทบกับตัวเด็กมากน้อยแตกต่างกัน ยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ เด็กจะแสดงออกหลายรูปแบบ เช่น ก้าวร้าวหงุดหงิดฉุนเฉียว เพราะต้องอยู่กับอารมณ์โกรธของครู เมื่ออยู่ในโรงเรียนเขาทำไม่ได้เขาจะเลือกไปแสดงออกในพื้นที่อื่น ด้วยการก้าวร้าวกลับ หรือลงไม้ลงมือ แต่เด็กบางคนก็จะเลือกวิธีหนีหลีกเลี่ยง ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่เข้ากิจกรรมที่ควรทำเพราะไม่อยากถูกตำหนิถูกตี เกิดความวิตกกังวล ซึม แยกตัว ส่วนเด็กที่ยอมทำตามครู ก็เพื่อที่จะได้อยู่รอด ซึ่งเด็กที่ยอมเมื่อเติบโตมาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ นับถือตัวเองต่ำ นำไปสู่โรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้จะต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กได้ระบายความเครียด ความอึดอัดคับข้องใจผ่านกิจกรรมบำบัด ส่วนพ่อแม่เองต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูก และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ให้เขารู้สึกว่าโลกที่เขาจะอยู่ไม่ได้น่ากลัว ​ “หมอมองว่า ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ครูกับเด็ก แต่เป็นอำนาจนิยมในโรงเรียน อำนาจที่ผู้ใหญ่ใช้กระทำกับเด็ก อ้างหวังดีลงโทษเพื่อสั่งสอน ซึ่งจริงๆเกิดขึ้นทุกที่ เกิดในบ้าน โรงเรียน ชุมชน เราต้องกลับมาดูหลักสูตรการผลิตครู ว่าได้ใส่ความเข้าใจ การดูแลเด็กเชิงบวก ทักษะการจัดการอารมของครู อย่ามองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ” แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าว ​แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พ่อแม่จำนวนไม่น้อยส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่รู้สึกว่าปลอดภัยจ่ายเงินมหาศาล คำถามคือ ทำไมเราไม่สามารถมีโรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กชนบท เด็กต่างจังหวัด เด็กยากจน ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเกิดการทำร้าย ดังนั้นควรมองไปให้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า นี่ขนาดเป็นโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถจ่ายได้ จ่ายในระดับที่ค่อนข้างมีราคา ยังได้รับคุณภาพการศึกษาแบบนี้ แล้วโรงเรียนอื่นๆที่เหลือจะเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงคุณภาพชีวิตทางการศึกษาที่ปลอดภัย ดังนั้นสังคมต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ และลุกขึ้นต่อสู้ไม่ยอมรับกับสิ่งที่ถูกปฏิบัติอยู่ เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ศธ.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องลงมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ​นางสาวอรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กรณีครูทำร้ายเด็ก บ้านพักเด็กและครอบครัว นนทบุรี ได้เข้าไปทำงานต้องแต่แรกที่เป็นข่าว ร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อหาทางออก ในส่วนของ พม.จะเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กและผู้ปกครอง ทำการประเมินสภาพจิต รวมถึงหาแนวทางช่วยเหลือ ในเบื้องต้นได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่รับผลกระทบโดยตรงผู้ปกครองได้แจ้งความดำเนินคดี กลุ่มที่2 เป็นกลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน กลุ่มที่ 3 กลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในสายชั้นเดียวกัน และกลุ่มที่ 4 กลุ่มเด็กและผู้ปกครองที่อยู่ในชั้นอื่นๆ หลังจากประเมินสภาพจิตใจแล้ว จะมีการทำแผนบำบัดกลุ่มต่อไป นอกจากนี้ในกลุ่มของเด็กที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเร่งด่วน ต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบหลักในระยะยาวด้วย ​นางสาวอรพินท์ กล่าวว่า พม.ได้หารือกับ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณสุขและมหาดไทย และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางพัฒนาขับเคลื่อนนโยบาย การคุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ยังได้ทำ MOU กับ ศธ.ในประเด็นการคุ้มครองเด็กในสถานศึกษา ประกอบไปด้วย1.การรับบุคลากรเข้าปฏิบัติหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อมูล ประเมินสภาพจิตก่อนเข้าทำงาน 2. ให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองเด็กกับบุคลากร 3.จัดให้มีโครงสร้างภายในมีตัวชี้วัดในการประเมิน จัดเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กเป็นการเฉพาะ4.มีข้อปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็ก 5.การสื่อสารจากภายนอก 6. ต้องมีการรายงานการดำเนินงาน และ7.เมื่อพบการกระทำความผิดต้องรายงานทันที นโยบายทั้งหมดนี้จะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นในสถานที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก อย่างไรก็ตาม ทางกรมกิจการเด็กฯและกรมกิจการสตรีและครอบครัว ได้ทำงานตามพรบ.คุ้มครองเด็กฯ หากท่านใดพบเจอหรือสงสัยว่าเด็กจะไม่ได้รับความปลอดภัย ให้แจ้งมาที่สายด่วน พม.1300 เจ้าหน้าจะรับเข้าไปช่วยเหลือก่อนที่จะเกิดเหตุกับเด็กเหล่านั้น ​นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กรณีครูทำร้ายร่างกายเด็ก อนุบาลที่ปรากฎเป็นข่าว และครูคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์กลับนิ่งเฉย เหมือนเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียน ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่รับรู้ รับทราบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ เรามีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ระบุชัดว่า มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก โดยรมว.พม.เป็นประธาน ปลัดพม.เป็นรองประธาน และยังมีปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นกรรมการ ทุกกลไกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ดูแลช่วยเหลือเยียวยาเด็ก ​“พม.เป็นผู้ถือกฎหมายคุ้มครองเด็ก ความกระชับฉับไวจึงสำคัญมาก ซึ่งครั้งนี้ถือว่า พม. และหลานหน่วยงานทำงานได้ค่อนข้างเร็ว การเข้ามายืนเคียงข้างพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเรื่องการดำเนินคดี มีกระบวนการปกป้องช่วยเหลือเยียวยา เป็นเจ้าภาพกระตุ้นการให้เกิดการมีส่วนร่วมคุ้มครองเด็กในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำเกณฑ์การประเมินคนที่จะเข้ามาทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ สถานดูแลเด็ก หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีบ้านพักที่ดูแลเด็ก จัดทำเกณฑ์ประเมิน มีบันทึกตรวจสอบประวัติพฤติกรรมตรวจประเมินสุขภาพจิต นอกจากนี้ควรมีแอปพลิเคชั่น เพื่อให้เห็นกล้องวงจรปิดในห้องเรียน บริเวณโรงเรียน เพื่อร่วมตรวจสอบ ไม่เป็นความลับ และเพิ่มบทบาทของผู้ปกครองตรวจให้สามารถสอบบุคลากร ผู้บริหารในโรงเรียน หากมีการละเมิดเด็ก ผู้ปกครองมีสิทธิให้ตั้งกรรมการสอบ ไล่ออกได้ ท้ายสุดอยากให้ พม.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบมากขึ้น ว่าทุกองคาพยพของพร้อมยืนหยัดเคียงข้างในวันที่เด็กถูกทำร้าย ละเมิดสิทธิ” นางฐาณิชชา กล่าว ​ขณะที่ นายอัครพงษ์ บุญมี ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์ราชพฤกษ์ กล่าวว่า เรื่องแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นกับลูกใครทั้งนั้น เด็กขนาดนี้คุณทำร้ายเขาได้อย่างไร อย่างกรณีลูกตนก็เคยเรียนซัมเมอร์กับครูจุ๋ม ตอนนั้นแก้มเขียวกลับมาบ้าน พอถามไปครูจุ๋มตอบว่า เด็กเล่นกัน และหลายครั้งที่ลูกฉี่ราดกางเกง และบอกว่า ฉี่ไม่ทัน ซึ่งทำให้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าลูกต้องโดนอะไรแน่นอน ซึ่งโชคดีที่ลูกได้เรียนกับครูจุ๋มแค่ 1 เดือน ก็เกิดการปรับเปลี่ยน ตอนนี้ลูก 4 ขวบ ขึ้นอนุบาล 2 แล้ว จริงๆ ถึงลูกเราไม่มีคลิปในเหตุการณ์ แต่ก็เหมือนถูกกดดันจากสังคมและตั้งคำถาม เช่น ลูกเรียนที่นั่นหรือ โดนไหม จะออกไหม ทำไมยังกล้าให้ลูกเรียนอีก คือมันกลายเป็นเรื่องน่าอายที่เราให้ลูกใส่ชุดโรงเรียนนี้ แล้วไปส่งที่โรงเรียนนี้ ซึ่งการย้ายโรงเรียนอยากให้เป็นคำตอบสุดท้าย เพราะคงจะไม่ย้ายลูกออก เหตุผลคือไม่รู้สึกว่าลูกจะต้องปรับอะไร แต่สิ่งที่ต้องปรับคือโรงเรียนและระบบ ถ้าไม่ปรับก็คือต้องปิดโรงเรียนไป อย่าปล่อยให้เด็กรุ่นอื่นๆต้องมาเจอชะตากรรมแบบนี้ ไม่ใช่ต้องมาวัดดวง แต่ควรสร้างมาตรฐาน ​นายอัครพงษ์ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่ผู้ปกครองเรียกร้องมีอยู่ 2 ประเด็น คือ น้องที่ถูกกระทำ ทางผู้ปกครองจะย้ายโรงเรียนและเรียกร้องค่าเสียหายเยียวยา ส่วนกรณีไม่ย้าย ทางโรงเรียนต้องมีมาตรการที่ชัดเจน วางระบบสามารถดูลูกผ่านออนไลน์ ครูที่สอนต้องแสดงใบประกอบวิชาชีพครู เพราะจะปล่อยให้ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาสอนเด็กไม่ได้ ยิ่งเคสนี้อดคิดไม่ได้ว่าผู้บริหารมีส่วนรู้เห็นให้ทำผิดหรือไม่ นอกจากนี้เรายังเสนอให้ต้องประชุมผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง ทราบว่าขณะนี้กระทรวงศึกษาเข้ามาดูแลในเรื่องนี้แล้ว และทางโรงเรียนยินยอมจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ปกครอง ส่วนค่าสินไหม ก็จะดูเป็นรายบุคคลไป ​“ขณะนี้ทางโรงเรียนยังบ่ายเบี่ยง ไม่มีหลัก ไร้ความจริงใจ เวลานัดหารือจะส่งผู้แทนที่เป็นใครก็ไม่รู้และมาไม่ซ้ำหน้า ทำให้ผู้ปกครองโมโหไม่พอใจ ยิ่งผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียนให้สัมภาษณ์แบบขาดวุฒิภาวะ ไม่รับผิดชอบ ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจเป็นอย่างมาก ซึ่งอยากให้เข้าใจเสียใหม่ว่าผู้ปกครองเขาไม่ได้เรียกร้องเงินทอง ตามที่กล่าวหา แต่ต้องการให้โรงเรียนปรับปรุง มีมาตรการสร้างความปลอดภัยให้ลูก หรือนโยบายจากผู้บริหารที่แสดงถึงความจริงใจ ตรวจสอบได้ ส่วนกรณีผู้ปกครองที่ลูกหลานเขาถูกครูทารุณตามที่ปรากฏในคลิป โรงเรียนก็ควรคิดเองได้ว่าต้องเยียวยาใช่หรือไม่ มันไม่จำเป็นที่จะให้ผู้ปกครองยื่นข้อเสนอ โรงเรียนควรจัดทีมเข้าไปดูแลตั้งแต่เกิดเรื่องแล้วด้วยซ้ำ” ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสารสาสน์ฯ กล่าว