รายงาน: ราษฎรตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ปลื้มปิติ น้ำในอ่างฯ ห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีได้ใช้ตลอดทั้งปี เมื่อเร็วๆ นี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่วมประชุมหารือเร่งรัดแนวทางในการดำเนินงานสนองพระราชดำริกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมทางหลวง เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการคืนชีวิตให้กับเกษตรกร อย่างพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งแบบซ้ำซากและจะเกิดอุทกภัยในฤดูฝน ปัจจุบันได้หมดไปเนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ “พื้นที่ส่วนใหญ่สามารถนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ได้เป็นอย่างดี จากที่มีน้ำเพียงพอและระบบการบริหารน้ำดี เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำจึงมีการเปลี่ยนจากการเพาะปลูกพืชไร่แบบเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด มาเป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามลักษณะของเกษตรพอเพียง มีรายได้อย่างต่อเนื่องแบบรายวัน รายเดือน และรายปี ทำให้เกษตรกรรอบอ่างและผู้ใช้น้ำ ไม่เป็นหนี้อีกต่อไป ที่สำคัญไม่ต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนทำการเกษตรเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะมีรายได้เพียงพอในการขยายกิจกรรม นอกจากนี้ ยังสามารถทำการประมง และจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นรายได้เสริม ทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จ เป็นตัวอย่างในการคืนชีวิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ต่อจากนี้ก็จะมีการขับเคลื่อนต่อยอดตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ที่ให้ดำเนินการต่อยอดงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และรายงานให้พระองค์ท่านได้ทรงทราบว่าผลในการดำเนินงานในการต่อยอดนั้นมีอะไรดีขึ้นบ้าง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งที่พระองค์ทรงดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง” พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี กล่าว โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมแปลงเกษตรของนางสาวไพฑูรย์ ศรีเวียง ราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีพื้นที่ จำนวน 30 ไร่ แต่เดิมปลูกอ้อย และสับปะรด แต่เมื่อได้รับน้ำจากระบบส่งน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเปลี่ยนรูปแบบมาปลูกพืชแบบสมผสาน เช่น พืชผักสวนครัว ปลูกถั่ว มะละกอ ปลูกพริก มะนาว และมีสระเก็บน้ำสำหรับเลี้ยงปลานิลและปลาดุก ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีรายได้ที่พอเพียงและชีวิตที่มั่นคงยิ่งขึ้น นางสาวไพฑูรย์ ศรีเวียง เปิดเผยว่า รู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์ไม่ทิ้งประชาชน ยังคงทำให้กับประชาชนทรงติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำนี้ถือว่าดีที่สุดแล้วสำหรับเกษตรกรเพราะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี “ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ไม่กระทบในการใช้ชีวิตเพราะมีไร่เป็นของตนเอง ซึ่งได้สานต่อจากพ่อและแม่และพัฒนามาเป็นเกษตรแนวใหม่ในรูปแบบเกษตรผสมผสาน ซึ่งประสบผลสำเร็จมาก มีรายได้ทุกวัน และในอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งทองเที่ยวเชิงเกษตร และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน อีกด้วย” นางสาวไพฑูรย์ กล่าว สำหรับพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีนั้น ปัจจุบันยังมีโครงการติดตามและขับเคลื่อน จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการฝายทดน้ำบ้านรางเข้พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ โครงการฝายทดน้ำบ้านบึงหล่มพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะกึงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี โครงการเหล่านี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2562 ในการเปิดหัวงานจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จำนวน 14,480,000 บาท เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีขนาดความจุ 5.65 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำ กำหนดแล้วเสร็จปี 2565 ทั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรของราษฎร จำนวน 200 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 3,000 ไร่