กรมชลประทาน เดินหน้าเก็บกักน้ำต่อเนื่องในพื้นที่ภาคอีสานกลาง ตามนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้อาคารและระบบชลประทานเร่งเก็บกักน้ำและสูบกลับผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด หลังได้รับอิทธิผลจากพายุ “โนอึล” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ประกอบด้วยพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง และ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันประมาณ 380 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติ 103 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 263 ล้าน ลบ.ม. และยังได้เก็บกักน้ำไว้บริเวณด้านเหนือของเขื่อนทดน้ำในลำน้ำชี 6 แห่ง รวมกันได้ประมาณ 168 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ทั้งสิ้นประมาณ 811 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในส่วนของแก้มลิงสามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพทุกแห่ง ทั้งนี้ ในส่วนของลุ่มน้ำชีตอนบน ลำคันฉู และลำปะทาว ได้มีการผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิง 61 แห่ง ได้ปริมาณน้ำรวมประมาณ 127 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง เก็บกักน้ำไว้ในแก้มลิง 11 แห่ง ได้ปริมาณน้ำ 63 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังได้วางแผนเก็บกักน้ำ ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนชนบทลงสู่แม่น้ำชี จากนั้นจะนำเครื่องจักรเข้าไปขุดเปิดทางน้ำ เพื่อชักน้ำเข้ามาเก็บกักที่หนองกรองแก้ว อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ก่อนจะผันเข้าไปเก็บกักไว้ที่กุดละว้า คาดว่าจะสามารถเติมน้ำให้หนองกรองแก้วได้ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ด้านลุ่มน้ำพรม-เชิญ ได้ผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ที่แก้มลิง 28 แห่งได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 43 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีน้ำส่วนเกินจากที่ผันเข้าแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำพรม-เชิญ และระบายผ่าน ประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญตัวที่ 2 ที่อำเภอหนองเรือ ไปลงที่เขื่อนอุบลรัตน์แล้วประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ยังมีปริมาณน้ำในลุ่มน้ำพรม-เชิญที่จะไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อีก จากปริมาณฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ส่วนลุ่มน้ำยังตอนล่าง ได้ผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ที่แก้มลิง 3 แห่ง รวมปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัด กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้จะยังมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งขอให้เก็บกักน้ำฝนไว้ในแหล่งน้ำของตน เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ให้ได้มากที่สุด