"ผู้ว่าฯธปท."ชี้สังคมเหลื่อมล้ำสูง ศก.ไทยอ่อนแอ แนะรัฐปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ แก้กฎเกณฑ์ล้าหลัง ลดมาตรการเหวี่ยงแหเกิดเบี้ยหัวแตก ขาดประสิทธิผลไม่คุ้มค่า ยกระดับท้องถิ่นต่างจังหวัด เพิ่มอุปทานและกำลังซื้อในชุมชน ให้อยู่รอดในยุคหลังโควิด เมื่อวันที่ 28 ก.ย.63 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 "ปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง" ว่า ปีนี้เป็นปีที่มีความท้าทาย เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไม่มีใครทราบว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด และจะจบลงอย่างไร การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลานานแค่ไหนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภายหลังจะเป็นไปอย่างไร โดยที่ผ่านมาได้พูดคุยเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลายๆ ทางหลายเวทีแต่ก็ยังไม่เกิดผลจริง ซึ่งการตอบโจทย์ว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทำอย่างไรให้เกิดได้จริง จะต้องมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ 2.คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีและสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ 3.การกระจายผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึงและไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้แสดงให้เห็นความอ่อนแอทั้ง 3 ด้านนี้เพิ่มขึ้นทั้งระดับจุลภาคและมหภาค สำหรับประการที่ 2 เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขเพราะข้างหน้าต้องเผชิญกับความไม่ได้นอนสูงขึ้นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมรวมถึงความไม่แน่นอนในมิติใหม่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นสภาวะโลกร้อนและอากาศแปรปรวน และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ หรือโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับจุลภาค ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะทฤษฎีมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการออมและสินเชื่อ จึงไม่มีเงินสำรองในการใช้ยามวิกฤตและไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบได้ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน ส่วนประการที่ 3 ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวสูง คนไทยเผชิญกับความเหลื่อมล้ำตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อยมีทุนน้อยมักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าแต่ตั้งแต่แรกเกิด และมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพ และทรัพยากรต่างๆ ที่แตกต่างกัน จากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพียง 5% ในขณะที่เด็กจากครอบครัวฐานะดีเกือบทั้งหมดมีการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจท่ามกลางโควิด-19 มีข้อคำนึงถึง 3 ประการคือ 1.การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นสอดคล้องกับการปรับตัวระยะยาว เพราะไม่มีใครรู้ว่าปัญหาจะลากยาวแค่ไหน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสรรทรัพยากรการเยียวยาเพื่อประคองระยะสั้น และรองรับการปรับตัวระยะยาว โดยปรับจากมาตรการเยียวยามาเป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ แม้ว่ามาตรการเยียวยายังจำเป็นแต่ต้องควบคู่กับการปรับตัวสู่โลกหลังโควิด-19 "ภาครัฐต้องลดมาตรการเหวี่ยงแหแบบทุกคน หันมาเน้นกลุ่มคนที่ต้องช่วยเป็นพิเศษ เพราะแรงงานและผู้ประกอบการมีการฟื้นตัวแตกต่างกัน เพราะการเหวี่ยงแหจะเกิดเบี้ยหัวแตก ไม่เกิดประสิทธิผล โดยจะต้องอาศัยกลไกตลาดคัดกรอง สร้างแรงจูงใจ เพราะถ้าทำไม่ดีจะเกิด Zombie Firm จะสร้างผลเสียและขาดแรงจูงใจ และกลไกถูกบิดเบือน และทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐขาดทรัพยากรไปช่วยเหลือประเทศ" 2.การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงถ้าไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาพเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกเศรษฐกิจหนึ่งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากรข้ามธุรกิจ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้นทุนสูงมาจากกฎภาครัฐที่ซับซ้อนไม่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้นทุนของเอสเอ็มอีสูงกว่ารายใหญ่ ทำให้เกิดโครงการทบทวนศึกษากฎหมาย หรือเรียกว่า Regulation Guillotine พบว่า 424 กระบวนการไม่จำเป็น และอีก 472 เป็นกระบวนการที่ควรปรับปรุง เพื่อลดขั้นตอน เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวโดยไม่สร้างภาระให้งบประมาณของรัฐบาล 3.การยกระดับท้องถิ่นต่างจังหวัดจะต้องเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมชนบทต่างจังหวัดเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหามากมายทั้งปัญหาแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ คุณภาพการศึกษาในชนบทที่ตกต่ำ "การเกิดโควิด-19 ทำให้เกิดการย้ายแรงงานมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่างจังหวัด สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทยกระดับผลิตภัณฑ์ในภาคเกษตรและวิสาหกิจชุมชนเป็นโอกาสในการเพิ่มอุปทานและกำลังซื้อในท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นจะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องวางโครงสร้างพท้นฐานทางด้านเทคโนโลยี" นายวิรไท กล่าว