นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้เขตสุขภาพพัฒนาระบบบริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ อำนวยความสะดวกประชาชน ลดการรอคอย ลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยเขตสุขภาพที่ 9 ได้มีแผนพัฒนาโรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เตรียมแผนรองรับทั้งเรื่องอุบัติเหตุและโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของประชากรและโรคติดต่อที่มากับประชากรต่างถิ่น เนื่องจากการเติบโตของเมืองและมีมอเตอร์เวย์ผ่านอำเภอปากช่อง โดยจะยกระดับจากโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กที่มีเตียง 300 เตียง เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ เพื่อดูแลประชากรในพื้นที่กว่า 2 แสนคนและประชากรแฝงประมาณ 1 แสนคน มีเป้าหมายหลัก คือ ลดการส่งต่อ ลดการรอคอย ลดความแออัด และลดการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Stemi) และอุบัติเหตุ           ด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โรงพยาบาลปากช่องนานา ได้เพิ่มการเข้าถึงบริการประชาชน และลดแออัดในโรงพยาบาล อาทิ พัฒนาคลินิกหมอครอบครัว (PCC) ให้เป็น Super PCC โดยร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า Big C เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและผู้ป่วยจิตเวชมารับยา โดยไม่คิดค่าเช่าสถานที่ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2563, ขยายบริการตรวจวัดความดันโลหิตที่ร้านขายยา กระจายผู้ป่วยไปรับบริการนอกหน่วยบริการแล้วร้อยละ 60 จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ร้อยละ 70, การจัดทำแอปพลิเคชันนัดหมายผู้ป่วยล่วงหน้า, เพิ่มจุดเจาะเลือดในคลินิกเบาหวาน และการเจาะเลือดในคลินิกหมอครอบครัว ช่วยลดเวลารอคอยเหลือไม่เกิน 100 - 120 นาที, มีแผนพัฒนาโรงพยาบาลมกุฏคีรีวันรองรับผู้ป่วยพ้นระยะวิกฤตและการดูแลผู้สูงอายุครบวงจร นอกจากนี้ ยังจัดบริการรูปแบบใหม่ (New Normal) จากสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองได้ พบแพทย์ปีละ 2-3 ครั้ง  กลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเล็กน้อย มี อสม.ลงไปเยี่ยม หากพบปัญหาปรึกษาผ่านระบบการดูแลรักษาทางไกล (Telemedicine) ทั้งด้านการพยาบาล ยา และกายภาพบำบัด และกลุ่มสีแดง คือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลจะจัดคิวให้ไม่ต้องรอนาน  ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 เน้นรักษาระยะห่าง จัดส่งยาให้ผู้ป่วยผ่านไปรษณีย์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้ง เตรียมการรองรับโรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และอุบัติเหตุ และจะเปิดบริการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ร่วมตรวจรักษาคนไข้ในอนาคต