นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า มีนโยบายที่มอบให้กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งเป้าหมายสร้างการรับรู้เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้เท่าทันข่าวปลอม โดยจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งขัอมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยกันป้องกันการแชร์เนื้อหาข่าวที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดมีแผนขยายการสร้างความมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้หนึ่งในแผนงานดังกล่าว คือการขอความร่วมมือจากสำนักข่าว เนื่องจากเป็นช่องทางที่ใกล้ชิดกับ “ผู้บริโภคสื่อ” และได้รับความเชื่อถือจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว สามารถเป็นช่องทางและเครือข่ายที่มีพลังในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดอบรมให้กับผู้ประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร พัฒนาระบบในการตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี่ และพัฒนาช่องทางการติดต่อประสานงานระหว่างประชาชนกับศูนย์ฯ และผู้ประสานงานกับศูนย์ฯ ให้มีขั้นตอนที่สะดวกมากขึ้น เป็นต้น นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมว่า จาการรับแจ้งข้อมูลข่าวผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ ตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 - 23 ก.ย. 63 มีจำนวนข้อความที่เข้ามา 17,255,640 ข้อความ โดยมีข้อความที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน จำนวน 18,479 ข้อความ ทั้งนี้จากการคัดกรองพบว่ามีข้อความที่ต้องตรวจสอบ 6,411 เรื่อง แบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ กลุ่มข่าวสุขภาพ 3,539 เรื่อง กลุ่มข่าวนโยบายรัฐบาล 2,499 เรื่อง กลุ่มข่าวภัยพิบัติ 125 เรื่อง และกลุ่มข่าวเศรษฐกิจการเงิน 248 เรื่อง ตามลำดับ อย่างไรก็ตามปัจจุบันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีช่องทางสื่อสารและรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนทั่วไป ครอบคลุมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ 6 ช่องทาง ได้แก่ 1. เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com มียอดผู้เข้าชม 3,475,136 ครั้ง 2. เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center มีผู้ติดตาม 65,232 ราย 3. ทวิตเตอร์ @AfncThailand มียอดผู้ติดตาม 6,988 รายชื่อ 4. บัญชีไลน์ทางการ Line@antifakenewscenter มีจำนวนผู้ติดตาม 1,408,159 ราย 5. ศูนย์รับแจ้งข่าวปลอม (สป.ดศ.) และ 6. สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายผู้ประสานงานภาครัฐ องค์กรอิสระ เพื่อดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จำนวนไม่น้อยกว่า 400 คน ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม "การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีการนำเอาระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี AI / Cloud / Big Data มาช่วยในการรวบรวม คัดแยก วิเคราะห์ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นและถูกส่งต่อบนโลกอินเทอร์เน็ต มีปริมาณมาก การใช้กำลังคนเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำได้" นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า การทำงานของระบบ ของ ศูนย์ฯ จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอน ดังนี้ 1.การรวบรวมเนื้อหา ข้อมูลที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตจาก เว็บไซต์ เว็บบอร์ด หรือ Social Network ที่เป็นกลุ่มเปิด รวมถึงข้อมูลจากช่องทางติดต่อของศูนย์ฯ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ หรือสายด่วน GCC1111 2. ระบบ AI จะทำการจำแนกข้อความ กลั่นกรอง จัดหมวดหมู่ และจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา วิเคราะห์ ประเมินผลกระทบ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว ,3. เมื่อคัดกรองข่าวสารที่เข้าข่ายใน ,3 กลุ่มที่กำหนด จะส่งข้อมูลข่าวไปยังเครือข่ายผู้ประสานงาน ตามช่องทางผ่านระบบที่ตกลงร่วมกันไว้ เพื่อให้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลซึ่งหน่วยงานเจ้าของเรื่องต้องยืนยันความถูกต้องของข่าวกลับมาที่ศูนย์ฯ ภายใน 2 ชั่วโมง และ4. เมื่อได้รับการยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ต่อไป ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ระบบจะมีการแสดงสถานะของงาน เพื่อใช้ในการติดตามการดำเนินงานแบบตามเวลาจริง (Real time)