จากการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆที่เกิดขึ้น ในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย แหล่งน้ำพื้นที่ลุ่มแห้งขอด ปลายน้ำทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเสื่อมโทรม ทำให้ “อดุลย์ แก้วคงธรรม” ทสม. ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เกิดแนวความคิดว่าที่จริงแล้วปัญหาทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน การแก้ปัญหาต้องเชื่อมร้อยเครือข่ายลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นระบบ แนวทางเชื่อมร้อยเครือข่ายต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำชุมชนตะโหมดที่ประกอบด้วย 12 หมู่บ้าน เป็นชุมชนต้นน้ำเทือกเขาบรรทัด แหล่งกำเนิดคลอง 14 สาย ที่ไหลลงไปรวมกันบริเวณทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกข้าว ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผลยืนต้น แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางปีก็ร้อนแห้งแล้ง ในขณะที่บางปีเกิดน้ำท่วม จนชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้จุดประกายในใจของจิตอาสา ทสม. อย่างอดุลย์ ให้ลงมือแก้ปัญหา โดยเขาอาศัยลักษณะการอยู่รวมกันเป็นชุมชนของชาวบ้าน และใช้แผนพัฒนาชุมชนเป็นกลไกในการทำงาน นายอดุลย์ แก้วคงธรรม ตระหนักว่าชุมชนตะโหมดอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ จึงมีการจัดตั้งองค์กร “สภาลานวัดตะโหมด” ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันระหว่างพระสงฆ์ ชาวบ้าน และองค์กรต่างๆในชุมชน มีการแบ่งงานออกเป็น 4 ฝ่าย คือฝ่ายสังคม ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายสิ่งแวดล้อม โดยมีอดุลย์ เป็นกำลังหลักในการดูแลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยบทบาทเป็นแกนนำในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน เขาได้เก็บข้อมูลในด้านต่างๆอย่างครบคลุม จนมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนไปถึงรากเหง้า และเข้าใจว่า หนึ่งในปัญหาที่ชุมชนตะโหมดเผชิญอยู่คือ พื้นที่ป่าลดลง สาเหตุมาจากสัมปทานทำไม้ในอดีต และการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนยาง ทำให้อดุลย์เกิดแนวคิดในการวางแผนงานยุทธศาสตร์บริหารจัดการป่าต้นน้ำชุมชนตะโหมด เมื่อสามารถเชื่อมโยงประเด็นปัญหาต่างๆในชุมชนได้แล้ว จนมีการนำแนวคิดการบริหารจัดการแบบองค์รวมมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำชุมชนตะโหมด เน้นการจัดการทรัพยากรในทุกด้าน ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่า และคน มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ในพื้นที่เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างสอดประสานกัน จุดกำเนิดแนวคิด “เขา ป่า นา เล” ด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อเวลาเกิดปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำลดลง ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมก็จะตามมา โดยไม่ได้กระทบแค่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบมาถึงพื้นที่กลางน้ำ และปลายน้ำด้วย และในกรณีเดียวกัน หากคนกลางน้ำใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงในการทำนา สารเคมีก็จะไหลลงสู่แหล่งน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้ทุกคนที่อาศัยอาหารจากทะเลสาบดำรงชีวิต ได้รับผลกระทบไปด้วย นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เข้าไปประสานช่วยพัฒนาศักยภาพของแกนนำ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ จนกลายเป็นเครือข่ายคนรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง ขึ้นมา ซึ่งภายหลังได้จดทะเบียนเป็นองค์กร ภายใต้ชื่อ “สมาคมคนรักษ์ลุ่มน้ำพัทลุง (พัทลุง)” และทำงานภายใต้บทบาทของทสม. มาโดยตลอด งานที่ทำจะมีขึ้นควบคู่กันไปทั้งด้านอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ภายใต้สโลแกน “รักษาป่าเดิม เพิ่มพื้นที่ป่าใหม่”  งานด้านการจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และดูแลคุณน้ำภาพ ขณะเดียวกันยังมีงานด้านการจัดการดิน รณรงค์ให้ชาวบ้านลดใช้สารเคมี ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ นอกจากนี้ยังพัฒนาคนสร้างเครือข่าย และปลูกสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน นายอดุลย์ จิตอาสา ทสม. เล่าถึงข้อคิดในการทำงานของเขาว่า การร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับผิดชอบ เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหาทุกส่วน นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือการประสานงานเครือข่าย ทสม. ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ทุกคนทำด้วยใจรัก มีความเสียสละในการทำงาน มีความเชื่อมั่นและมอบความจริงใจให้แก่กัน โดยเน้นการทำงานเชิงบวก แทนที่จะเอาปัญหาโยนใส่กัน และการทำงานแต่ละครั้งล้วนอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องเสมอ ต่อมาความร่วมมือในลักษณะนี้ ได้ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานที่กว้างขวางและมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น.