DSI “รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ” จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ​ ให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายและการเข้าถึงความเป็นธรรม วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม เอ ชั้น 5 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายและการเข้าถึงความเป็นธรรม หัวข้อ “รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม และ พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน และเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการนำ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด ไปขยายผลในระดับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ และนำผลการวิจัยประเมินผลการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ผ่านสื่อ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด โดยสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไปใช้ประโยชน์ในองค์การที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนต่อไป ภายในงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายและการเข้าถึงความเป็นธรรม หัวข้อ “รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ” มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การมอบรางวัล The Choice Award 2563 การอภิปรายสรุปการวิจัยประเมินผลการเรียนรู้และปรับเปลี่ยน พฤติกรรมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ผ่านสื่อ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด การอภิปราย เรื่อง “ฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ : เป็นทางออกจริงหรือ?” และ “หนี้นอกระบบ : อาชญากรรมรูปแบบใหม่” เป็นต้น โครงการดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของการบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยมีมาตรการการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้หรือประชาชนรายย่อย และลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการหารายได้หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำจะได้รับการฟื้นฟูอาชีพ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจตามกรอบอำนาจหน้าที่ หนี้นอกระบบเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท แนวโน้มของปัญหาหนี้นอกระบบอาจวิกฤติรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยจากผลการดำเนินงานพบว่า ในห้วงปีงบประมาณ 2563 สภาพปัญหาหนี้นอกระบบมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั้งรูปแบบการปล่อยเงินกู้ที่หวังผลประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนอื่น ๆ ในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด เช่น รูปแบบการใช้แอปพลิเคชั่นในการให้กู้ยืมเงิน การใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการให้กู้ยืมเงินและติดตามทวงถามหนี้ พฤติการณ์การทวงถามหนี้โดยวิธีการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย บางรายถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากสื่อสารสนเทศพบว่าตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีการฆ่าตัวตายทั้งสิ้นจำนวน 13 ราย ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบและการไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านอื่น ๆ รวมทั้งสร้างการรับรู้เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการให้ความรู้กับประชาชนจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยได้คิดค้นและพัฒนา The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด เพื่อเป็นเครื่องมือการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของเกมกระดาน โดยมีการสอดแทรกองค์ความรู้ด้านกฎหมาย การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการอำนวยความยุติธรรม การพึ่งพาและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง การวางแผนการใช้จ่ายเงินและการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้ดำเนินการเผยแพร่ให้กับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมกับสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศึกษาวิจัยผลจากการเรียนรู้เกมของกลุ่มเปราะบางในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนอีกด้วย