ในแวดวงคนเลี้ยงหมู ที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ว่าปีนี้น่าจะเป็นปีทองที่เกษตรกรจะพอลืมตาอ้าปากได้ หลังต้องทนทุกข์กับภาวะขาดทุนมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาหมูล้นตลาดทำราคาตกต่ำต่อเนื่อง แต่แล้วการณ์กลับไม่เป็นดังนั้น เพราะราคาหมูกลับถูก “แช่แข็ง” ฟรีราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถปรับขึ้นตามกลไกตลาดที่แท้จริงได้ ยิ่งในวันนี้ที่เกษตรกรหลายจังหวัดต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโรคเพิร์ส (PRRS) ซึ่งเป็นโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ ที่ติดต่อเฉพาะในหมู แต่ไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายกับคน โรคนี้ถือว่ามีความร้ายแรงต่อวงการหมู เพราะยังไม่มียารักษาโรคที่เฉพาะเจาะจง และสร้างความเสียหายในฝูงสุกรได้อย่างมาก โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือที่เวลานี้มีการระบาดแล้วใน 7 จังหวัด ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนพะเยา ลำพูน ลำปาง และแพร่ ในฟาร์มเกษตรกรที่พบโรคนี้ต้องทำลายหมู รวมถึงฟาร์มที่อยู่โดยรอบในรัศมีตั้งแต่ 1-3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตรที่พบสัตว์ป่วย ตามความรุนแรงของการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นมาตรฐานการป้องกันการระบาดโรคสัตว์ของกรมปศุสัตว์ รวมถึงต้องหยุดพักเล้าไม่นำหมูเข้าเลี้ยง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด และไม่ใหเกิ้ความเสียหายต่อเกษตรกรในวงกว้าง ตัวอย่างผลกระทบที่เห็นให้ได้ชัดเจน คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งมีเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกรวมทั้งหมด 90 ราย วันนี้มีเกษตรกรถึง 70 ราย ที่ต้องหยุดการเลี้ยงหมูจากปัญหา PRRS เนื่องจากเกิดโรคภายในฟาร์ม และมีเกษตรกรบางส่วนที่กังวลว่าจะเกิดปัญหากับฟาร์มของตัวเอง จึงตัดสินใจหยุดเลี้ยถงหมูไปก่อน รอดูสถานการณ์ดีกว่านี้ถึงจะเริ่มลงทุนใหม่ ขณะนี้จึงเหลือเกษตรกรเพียงแค่ 20 รายเท่านั้น ที่ยังยืนหยัดสู้ต่อ แต่ต้องแลกกับต้นทุนการเลี้ยงหมูที่สูงขึ้นถึงตัวละ 100 บาท จากเดิมที่มีภาระในด้านการป้องกันโรคสำคัญอย่าง ASF ที่เพิ่มต้นทุนขึ้นมา 100 บาทอยู่แล้ว แต่เกษตรกรหมูก็ยอมแลก เพื่อรักษาอาชีพของพวกเขาเอาไว้ ทำให้ยังสามารถป้องกัน ASF ได้อย่างเข้มแข็งจนเป็นประเทศเดียวที่ปลอดจากโรคนี้ได้จนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่าคนเลี้ยงหมูต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มถึง 200 บาทต่อตัวแล้ว วันนี้ปริมาณผลผลิตหมูในกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ หายไปเกือบ 80% เมื่อผนวกกับข้อกำหนดเรื่องการห้ามเคลื่อนย้ายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาต การห้ามจำหน่ายหมูข้ามเขต ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรค โดยมีการตั้งด่านตรวจตลอด 24 ชั่วโมง หากมีผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งสองปัจจัยทำให้ในบางพื้นที่เริ่มเกิดปัญหาขาดแคลนหมูแล้ว แต่การขายหมูเป็นหน้าฟาร์มของเกษตรกรยังถูกตรึงราคาไว้ที่ไม่เกิน 80 บาท ทั้งๆที่หมูในพื้นที่ไม่มีขาย สวนทางกับการบริโภคที่ยังคงมีต่อเนื่องไม่ได้ลดลง ในขณะที่คนเลี้ยงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น การป้องกันโรคต้องเข้มข้นและได้มาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนด เกษตรกรจึงเริ่มพิจารณาหยุดเลี้ยงหมู เพราะวิตกกับภาวะโรคที่ไม่สามารถคาดเดาได้ สิ่งที่เกษตรกรหวังคือ อยากให้ปลดล็อกกลไกตลาด ให้เป็นไปตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง เพื่อไม่ให้อาชีพเลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากไปจนหมด เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้บริโภค หนึ่งในนั้นก็คือเกษตรกรที่ถือเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งเช่นกัน ขอเพียงภาครัฐเข้าใจปัญหาและมองกลไกนี้ให้ออก ซึ่งถือเป็นการช่วยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคไปพร้อมๆกัน โดย ปฏิภาณ กิจสุนทร : [email protected]