ทีมวิจัยม.เกษตร ค้นพบและยืนยันระบบกำหนดเพศของอิกัวน่า เป็นระบบ XX/XY ครั้งแรกของโลก ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนิสิตระดับปริญญาโท นางสาวทรรศิกา คุ้มกัน ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ คณะวิทยาศาสตร์ สถานพยาบาลสัตว์มายด์เพ็ทส์ และคณะทำงานวิจัย ประสบความสำเร็จค้นพบและยืนยันระบบกำหนดเพศของอิกัวน่า (Iguana iguana) ครั้งแรกของโลก โดยอิกัวน่ามีระบบกำหนดเพศเป็นระบบ XX/XY คล้ายกับของมนุษย์ แต่มียีนและองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ยังพบว่าโครโมโซมเพศของอิกัวน่า มีความเกี่ยวข้องกับโครโมโซมเพศของสัตว์ชนิดต่างๆ ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังสอดคล้องกับสมมุติฐาน super-sex chromosome ของสัตว์มีกระดูกสันหลังต่างๆ ที่พบก่อนหน้า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญมากสำหรับการอธิบายปรากฎการณ์วิวัฒนาการของโครโมโซมในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน และช่วยวางแผนการผสมพันธุ์ของอิกัวน่า ตลอดจนการพัฒนาวิธีการตรวจสอบเพศของอิกัวน่าด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอ ซึ่งจะสนับสนุนวงการเพาะเลี้ยงอิกัวน่าในประเทศไทยและทั่วโลก ปัจจุบันคนทั่วโลกและคนไทยให้ความสนใจการเลี้ยงสัตว์ประเภทสัตว์เลี้ยงแปลก (exotic pets) มากขึ้น โดยเฉพาะอิกัวน่าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นกิ้งก่าที่มีลวดลายสีสันสวยงาม และยังสามารถฝึกให้เชื่องได้ ค่อนข้างเลี้ยงง่าย ปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงสามารถพัฒนาสีสันต่างๆ ของอีกัวน่าได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามมักพบปัญหาในการตรวจสอบเพศของอิกัวน่าที่ไม่ชัดเจนในวัยก่อนเจริญพันธุ์ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของผู้สนใจที่ต้องการซื้อหรือวางแผนผสมพันธุ์ และการซื้อ-ขายอิกัวน่าที่ไม่ทราบเพศไปนั้นทำให้สัดส่วนของการเลี้ยงระหว่างเพศผู้และเพศเมียไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ส่งผลเสียต่อการผสมพันธุ์ในกรงและผู้เพาะเลี้ยงต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงอิกัวน่าไปจนโตเต็มวัยจึงจะสามารถระบุเพศได้ นอกจากนี้ผู้สนใจเพาะเลี้ยงอิกัวน่าส่วนใหญ่นิยมซื้อหาอิกัวน่าที่อายุยังน้อยเพื่อต้องการให้เชื่อง และเกิดความผูกพัน การทราบระบบกำหนดเพศของอิกัวน่า และสามารถพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อตรวจสอบเพศได้ตั้งแต่อายุอิกัวน่ายังน้อย จะส่งเสริมผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกเพศผู้ และเพศเมียให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับเพาะเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ การค้นพบระบบกำหนดเพศดังกล่าวได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร Frontier in Genetics เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2563 โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการทุนพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมระดับปริญญาโท (พวอ) ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (เดิม) ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช)