ยังคงอาละวาดอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นคำถามที่ไร้คำตอบว่า จะจบสิ้นลงเมื่อไหร่? สำหรับ วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังเขย่าโลกเรา ณ เวลานี้ ซึ่งลุกลามไปแล้วในพื้นที่ 213 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมที่มากเกือบ 32 ล้านคน และผู้ป่วยที่เสียชีวิตอีกราวๆ ร่วม 9.8 แสนคน แถมมีแนวโน้มว่า ตัวเลขทั้งผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยที่เสียชีวิต จะทะยานพุ่งสูงขึ้นไปอีก โดยสถานการณ์ของวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายข้างต้น มิใช่มีต่อเฉพาะระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ ทว่า ภาคส่วนต่างๆ ล้วนมีอันต้องสั่นสะท้านจากการได้รับผลกระทบของวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ในครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การคมนาคม ขนส่ง การกีฬา สันทนาการต่างๆ รวมไปจนถึงการการเรียน การสอน ที่ต้องขยับปรับรูปแบบการดำเนินการแทบจะใหม่หมด นับแต่นี้เป็นต้นไป นั่น!...เป็นทรรศนะของนักพยากรณ์โลกแห่งอนาคตจากบรรดาสำนัก หรือเฮาส์ (House) ต่างๆ ซึ่งได้มองไกลไปถึง 5 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2025 (พ.ศ. 2568) ที่จะกลายเป็น “แนวโน้มใหม่” ในวิถีชีวิตของมนุษยชาติเราส่วนหนึ่งนับจากนี้ พร้อมหยิบเรื่องราวของโลกเราหลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน เมื่อปี 2461 (ค.ศ. 1918) ที่ประชาชนชาวโลกเราได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันใหม่หมด หรือนิวนอร์มอล อาทิ เรื่องการตื่นตัวด้านวิจัยทางการแพทย์ เรื่องสุขอนามัยต่างๆ เป็นกรณีตัวอย่าง ส่วนโลกหลังยุคโควิดฯในอนาคตนับจากนี้ ก็ไล่ไปตั้งแต่ “การคมนาคมขนส่ง” ที่ทางกลุ่มนักพยากรณ์อนาคตจากสำนัก “เพรสทิจ อีโคโนมิกส์” เมืองออสติน รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ “นายเจสัน เชนเคอร์” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ออกมาพยากรณ์ว่า “รถให้บริการรับจ้างแบบไร้คนขับ ” อย่าง “แท็กซี่ไร้คนขับ” ที่ “อูเบอร์” (Self-driving Uber) ให้บริการอยู่นั้น จะได้รับการถูกเลือกให้มาบริการกันมากขึ้น สำหรับ การเป็นรถรับจ้างสาธารณะของประชาชน ใช้เป็นทางเลือก ในการเดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งทางสำนักพยากรณ์อนาคต ได้ยกตัวอย่างของการเดินทางไปสนามกีฬา เพื่อไปเชียร์ทีมโปรด ให้เอาชนะในการแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม โดยสนามกีฬาที่จะเดินทางไปข้างต้นนั้น “สนามกีฬาที่เป็นกลางแจ้ง” หรือ “เอาท์ดอร์ (Out door)” จะสร้างความสบายใจว่าจะไม่ติดเชื้อโรคกลับมา ให้แก่ผู้ที่จะเดินทางไปรับชมการแข่งขัน มากกว่า “สนามกีฬาที่เป็นแบบในร่ม” หรือ “อินดอร์ (In door)” นอกจากไปสนามกีฬาแล้ว ก็ยังมีการเดินทางไปรับประทานอาหารตามร้านอาหาร หรือภัตตาคารต่างๆ โดยมีแนวโน้มตามการพยากรณ์ของ “คารา นีลเซน” ผอ.ของสำนักอาหารและเครื่องดื่มดับเบิลยูจีเอสเอ็น (Food & Drink WGSN) ว่า ร้านอาหารแบบเปิด คือ สถานที่โล่งแจ้ง จะได้ให้บริการแก่ลูกค้า มากกว่าร้านอาหารแบบสถานที่ปิด พร้อมกันนี้ ผอ.ของสำนักอาหารและเครื่องดื่ม ยังระบุด้วยว่า ด้วยจำนวนลูกค้า ผู้บริโภค ที่เข้าไปใช้บริการน้อยลงอย่างน่าใจหายในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ โดยมีรายงานจาก “สมาคมร้านอาหาร ภัตตาคารแห่งชาติสหรัฐฯ” เปิดเผยว่า เฉพาะในสหรัฐฯ ร้านอาหารเกือบ 1 ใน 6 มีอันต้องปิดกิจการไปแบบถาวร และปิดทำการไปแบบระยะยาว เนื่องจากได้รับผลกระทบของพิษไวรัสโควิดฯ ข้างต้น จนลูกค้าหายไป หรือใช้บริการกันน้อยลง แถมมิหนำซ้ำ กิจการร้านอาหารที่ปิดตัวหลายแห่ง ก็เผชิญกับชะตากรรมล้มละลายจากภาระหนี้สินที่ท่วมล้นพ้นตัวกันอีกต่างหาก ส่วนรายการอาหาร หรือเมนู ที่ลูกค้าเลือกบริโภครับประทาน ก็เปลี่ยนจากเดิมด้วย โดยหันไปรับประทานเมนูเกี่ยวกับพืช ผัก ซึ่งดีต่อสุขภาพ และต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย ทางด้าน การซื้อขายสินค้า ทั้งลูกค้าและผู้จำหน่าย ก็จะเข้าสู่ระบบออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซกันมากขึ้น รวมถึงการขนส่งสินค้าที่จะให้ “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” ทำหน้าที่ลำเลียงสินค้าไปยังลูกค้ากันมากขึ้น โดยนักพยากรณ์อนาคตของ “เพรสทิจ อีโคโนมิกส์” ระบุว่า จะใช้กำลังคนน้อยลง แต่จะใช้เทคโนโลยีที่สามารถควบคุมได้ในระยะไกลมากขึ้น เพื่อลดการสัมผัส ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโรคระหว่างกัน เช่นเดียวกับการเรียน การสอน ในโลกอนาคต ก็จะเป็นไปในทิศทางของระบบออนไลน์กันมากขึ้น ตลอดจนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอต่างๆ เพื่อลดการชุมนุมของผู้คน ระหว่างผู้เรียน ผ้สอน ให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม การที่โลกอนาคตมีแนวโน้มหันไปในทิศทางนี้ ก็เป็นที่กังขา มีคำถามไปถึงระบบการศึกษา ณ เวลานี้ว่า ได้พัฒนาจนสามารถตอบโจทย์ ต่อกระแสดังกล่าวมากน้อยเพียงใด?