เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 กันยายน 2563 ที่สถานีเรือสมุย แหลมโจรคร่ำ ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เป็นประธานมอบนโยบายและเปิดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย : การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทางทะเลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน มูลนิธิและอาสาสมัคร เข้าร่วมฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อดูความพร้อมในการฝึกซ้อมแผนการค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลของ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมฝึกซ้อมแผนการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เพื่อสร้างทักษะและเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการกู้ชีพ กู้ภัยทางทะเล ทั้งภาครัฐและเอกชน และอาสาสมัคร เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินทางน้ำที่อาจเกิดขึ้น พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทย เป็นพื้นที่ที่มีความเสียงในการเกิดอุบัติเหตุทางทะเล จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันฝึกซ้อมแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีความชำนาญ เข้าใจ และสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางน้ำอย่างเป็นระบบให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และอาสาสมัครในพื้นที่ให้ได้เพิ่มทักษะ ประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การอพยพและการเคลื่อนย้ายผู้ประสพภัย และทดสอบระบบเตือนภัย อุปกรณ์กู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องจักรกลและทรัพยากรอื่น ๆ ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทางทะเล และผู้ใช้บริการท่องเที่ยวทางทะเลด้วย โอกาสนี้นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมชมการสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล โดยสถานการณ์สมมุติมีการจำลองเหตุการณ์เรือโดยสารข้ามฝากจากอำเภอเกาะสมุย มุ่งหน้าอำเภอดอนสัก ประสพอุบัติเหตุเกิดไฟลุกไหม้ภายในเรือ มีผู้บาดเจ็บและมีผู้สูญหายต้องระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย ในการให้ความช่วยเหลือทั้งทางทะเลและอากาศยาน เพื่อให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งการฝึกครั้งนี้เป็นการฝึกปฏิบัติ (Drill) เพื่อค้นหาจุดอ่อน ปัญหา-อุปสรรคของขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานทุกหน่วยและทุกภารกิจตามสถานการณ์ที่สมมติขึ้นโดยเน้นการเผชิญเหตุของเจ้าหน้าที่ภาคสนามเฉพาะด้าน อีกด้วย