เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต่อมา น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 ถูกจำกัดการแสดงออก มีการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง ไม่เป็นไปตามหลักสากล และไม่ควรนำมาผูกมัดว่ารัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องสามารถปรับตามความเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้เนื้อในของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีช่องทางให้แก้ไข แต่ขั้นตอนสลับซับซ้อน ยากแก่การแก้ไขจริง จนกลายเป็นต้นเหตุความขัดแย้งในสังคม ล้าหลัง ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิตจ วิกฤตโรคระบาด เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดผู้ที่เข้าสู่อำนาจรัฐ ว่าจะใช้อำนาจรัฐเพื่อประชาชนหรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 4 ส.ค.หลังนายกฯได้ฟังข้อสรุปคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าต้องแก้ไข สอดคล้องกับข้อเรียกร้องนักเรียน นิสิต นักศึกษา ดังนั้นไม่ผ่านการลงมติ แสดงว่าสิ่งที่นายกฯพูดเป็นเพียงวาทกรรมซื้อเวลา หลอกประชาชน และพล.อ.ประยุทธ์เองจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้น นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การลงมติที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ แต่ส่วนตัวเห็นว่าจะทำหลายสถานการณ์ตึงเครียดลดลงหรือมากขึ้น อย่างประเด็นการเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมาหารือกันว่าจะทำประชามติเมื่อยกร่างเสร็จหรือไม่ หรืออีกทางหนึ่งก็เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา อย่างการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีการเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ในมาตรา 272 และกลับมาใช้วิธีปกติ นายสาทิตย์ ยังอภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ถกเถียงเพียงในรัฐสภาเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับจุดแตกหักทางการเมือง ยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ความรู้สึกแต่ละฝ่ายจะสุดโต่งมากขึ้น การให้เหตุผลของแต่ละฝ่ายจะกลายเป็นวาทกรรมสร้างความขัดแย้ง สถานการณ์บีบให้เลือกข้างมากขึ้น ตนเองเป็นหนึ่งในเสียงที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ตอนนี้ผ่านมา 2 ปีกว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐธรรมนูญกลายเป็นโอกาสจุดแตกหักทางการเมือง ทุกคนแสดงเหตุผลชัดเจน แต่ที่ลึกไปในจิตใจก็เกิดข้อกังวลความขัดแย้ง จนไปถึงผลกระทบต่อสถาบันต่างๆ จึงอยากให้ถามใจตัวเอง ว่าจะขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยตัวเราหรือไม่ การรับร่างไปตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เป็นแนวทางหนึ่ง โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันแสวงหาความร่วมมือ จึงอยากให้ถามใจลึกๆ ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งคลี่คลายความขัดแย้งอย่างไร และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันต่อ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุม พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะวิปฝ่ายวุฒิสภา ได้สอบถามประธานรัฐสภาถึงลำดับการอภิปรายของส.ว. โดยนายชวน ชี้แจงว่า เป็นการจัดลำดับให้แต่ละฝ่ายอภิปรายฝ่ายละ 7 ชั่วโมง 20 นาที ไม่ได้บังคับว่าจะต้องใช้เวลาจนครบ หากใช้เวลาไม่ถึงที่กำหนดก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่หากจะใช้เวลาก็ควรให้ผู้ที่ยังไม่ได้อภิปรายได้พูดก่อน ซึ่งฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาลงมตินานถึง 4 ชั่วโมง