เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมของรัฐสภา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน 6 ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 โดยนาย นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแบ่งขั้วทางการเมือง มีความขัดแย้งทางชนชั้น และช่องว่างระหว่างวัย ปัญหาทั้ง 3 อย่างรอเวลาที่จะระเบิด แต่ตอนนี้เกิดวิกฤติใหม่คือวิกฤติแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เป็นเชื้อไปถึง 3 ปัญหาข้างต้น ซึ่งหน้าที่การแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ต่อหน้าของเราทุกคนแล้วในวันนี้ และจะถูกจดจำไว้ในใจตลอดไป ตนขอเล่าถึงวิกฤติการเมืองปี 2535 ได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มากจาการเลือกตั้ง และเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การปะทะและนองเลือด ตอนนั้นตนอึดอัดใจมากที่ทำอะไรไม่ได้ ต้องนั่งดูคนฆ่ากันบนท้องถนน จนต้องยกหูโทรศัพท์ไปหา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่าอยากลาออก แต่ได้รับคำแนะนำให้อยู่ต่อไป เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะลาออกคนเดียวก็ไม่ได้อะไร เหตุการณ์ครั้งนั้นผมจดจำไว้ในใจตลอด และไม่ลงเลือกตั้งในสมัยต่อไป ยังดีที่ต่อจากนั้นได้เข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 “พวกเรารัฐสภามีโอกาสในการที่จะแก้ไขวิกฤติของประเทศ ตัดสินใจว่าจะพาประเทศออกจากวิกฤติหรือเข้าสู่วิกฤติ การร่างรัฐธรรมนูญเป็นแค่เส้นทาง วันนี้สมาชิกรัฐสภามีโอกาสอยู่ในมือที่จะระงับความขัดแย้งแล้ว วันนี้ผมเองขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างของรัฐบาล เพราะมีการกำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจึงตัดสินใจเห็นด้วย และจะพาประชาชนออกจากวิกฤตใหม่ทั้ง 3 มิติ” นายนิกร กล่าว พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนไม่มีธง แต่อยากจะฟังเหตุผลว่าท่านมีเหตุผลอะไร ทำไป ทำมา กลายเป็นว่าเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจสมาชิกวุฒิสภา และไม่ไว้วางใจนายกฯ มันคนละเรื่องหรือไม่ เหมือนที่มีคนเคยพูดว่าจะเขียนในรัฐธรรมนูญว่าจะไม่ให้คนชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตนยืนยันต้องให้เกียรติกับผู้นำ และสิ่งที่ดีมีเยอะแยะ แต่มุมมองแต่ละคนแตกต่างกันพูดง่ายๆว่าควรพิจารณากันด้วยเหตุผล ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายว่า ถ้าวันนั้น ส.ส. ไม่เลือกนายกรัฐมนตรี ม.44 และ คสช. ก็ยังคงอยู่ ดังนั้นการที่ส.ส.จำนวนหนึ่งเลือกเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ แต่วันนี้มี ส.ส. มากกว่า 250 คนและเยาวชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร. จากประชาชน และทำประชามติให้ประชาชนเลือกว่ารับหรือไม่รับ อย่างน้อยก็เป็นการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ระดับหนึ่ง และจะได้เอาเวลาไปแก้ไขเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา อภิรายว่า ส.ว. ชุดนี้ อีก 3 ปีกว่าก็จะหมดวาระและ ก็จะมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเองของคนที่สมัครและตัวแทนองค์กร ดังนั้นจึงอย่าเข้าใจผิดว่า ส.ว. ชุดนี้เป็นการไปสืบทอดอำนาจให้ใคร แต่มาแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่ถ้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก้เท่าไรก็ไม่จบ เพราะยังมีปัญหาการคุกคามจากสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อีกทั้ง ส.ส. ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ ดังนั้นจึงเรียกว่า ส.ว. แก้ปัญหาเชิงระบบโดยยึดโยงกับประชาชน การยกเลิกอำนาจของ ส.ว. เท่ากับเป็นการไประงับการแก้ไขปัญหาของประชาชน อย่าแก้ไขปัญหาโดยการสร้างปัญหาหรือกล่าวหาคนอื่นว่าไม่ได้เห็นด้วยก็เป็นศัตรูทั้งหมด ในขณะที่จะมาขอคะแนนเสียง อย่าปลูกฝังความคิดเกลียดชังทำลายล้างระบบอาวุโส ซึ่งเป็นระบบที่มีความอบอุ่นของประเทศไทย ความหลากหลายทางสังคมยุคใหม่ที่ไม่สร้างสรรค์อย่านำเอามาใช้ สิทธิเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตที่เกินเหตุและขาดหลักเหตุผล การใช้สื่อยุคใหม่เพื่อทำลายล้างสร้างข่าวเท็จข่าวลือ ปลุกปั่นอารมณ์และเพิ่มความร้าวฉานให้กับประชาชนคนไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ลดทอนศักยภาพของประเทศเราโดยตรงเหมือนไก่ที่จิกกันเองแล้วทำให้ทุกคนแพ้หมดทั้งสิ้น ต่อมานายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา ยังไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับ โดยเฉพาะ มาตรา 256 ในหลักการพอรับได้ แต่รายละเอียดยังทำใจรับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญแม้เป็นกฏหมายสูงสุด แต่ไม่ใช่ชีวิตของประชาชน รัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาอดอยาก เหลื่อมล้ำ แก้เจ็บป่วย หรือแม้แต่ยับยั้งโควิดก็ไม่ได้ ฉะนั้น อย่าคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ได้ รัฐธรรมนูญปี 40 ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด แต่แล้วก็ไปไม่ได้ อะไรที่ไม่ได้ห้ามไว้ก็ถูกผู้ใช้รัฐธรรมนูญบิดเบือน ดังนั้น รัฐธรรมนูญดีต้องมาพร้อมกับผู้ใช้ที่ดี บางทีอาจไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้นิสัยผู้ใช้รัฐธรรมนูญต่างหาก ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ยากแทบเป็นไปไม่ได้ แต่หากมีเหตุผลเพียงพอจะเอาเสียงส.ว.ทั้งหมด 250 เสียงก็ได้ แต่ต้องเป็นประโยชน์ของประเทศ หรือที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าได้ทั้งหมดถ้าสดชื่น ดังนั้นการจะแก้ไขเพิ่มเติมให้มีสสร. เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เกรงว่าจะไม่ใช่เจตนารมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และอาจขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 55 ดังนั้น ถ้าจะรื้อต้องกลับไปถามประชาชนอีกครั้ง “ถ้าทำประชามติ เราจะต้องทำถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก ถามประชาชนว่าจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ครั้งที่สอง เมื่อแก้แล้วก็ต้องทำอีกครั้ง สุดท้ายเมื่อได้ประชามติแล้วจัดทำร่างเสร็จต้องนำกลับไปทำประชามติว่าจะรับหรือไม่ ใช้เงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ส่วนจะเกิดประโยชน์กับใคร ไม่ทราบ ประชาชนไม่ได้เดือดร้อนลำคาญ”นายถวิล กล่าว