'พ่อเฒ่า-แม่เฒ่าลีซู'สุดปลื้มได้รับบัตรประชาชนใบแรกในชีวิตจากอธิบดีกรมการปกครอง “ครูแดง”แนะนายกรัฐมนตรี-รมว.มท.เร่งแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ เผยพบทั่วประเทศกว่า 7.7 หมื่นคน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ณ ที่ว่าการอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายวีนัส สีสุข รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามผลการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครอง นอกจากนี้ยังได้มอบบัตรประชาชนให้นายอาเหล งัวยา วัย 82 ปีและภรรยาคือนางอาหวู่มิ งัวยา ผู้เฒ่าเผ่าลีซู ซึ่งเป็นชาวเขาดั้งเดิมหมู่บ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และมอบบัตรตัว G ให้กับเด็กนักเรียน ทั้งนี้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักโดยมีชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆแต่งชุดประจำเผ่ามาร่วมให้กำลังใจและแสดงความยินดีกับผู้เฒ่าอาเหลและภรรยา รวมทั้งลูกหลานของนายอาเหลและนางอาหวู่มิ ที่ได้เดินทางกันมานับสิบคน การมอบบัตรประชาชนให้นายอาเหลครั้งนี้ถือว่าเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากนายอาเหลเกิดที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่บนดอยแม่สลอง จ.เชียงราย โดยทั้งคู่มีมีบุตรด้วยกัน 11 คนซึ่งทั้งหมดได้รับบัตรประชาชนไทยเรียบร้อยแล้ว แต่นายอาเหลและนางอาหวู่มิ กลับยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากในการสำรวจของเจ้าหน้าที่ทางการเพื่อทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงเมื่อปี 2534 ได้บันทึกข้อมูลของนายอาเหลผิดข้อเท็จจริง โดยระบุว่านายอาเหลเกิดประเทศพม่า ทำให้นายอาเหลมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขอสัญชาติไทยของนายอาเหลมีปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมแก้ไขให้ โดยอ้างว่าเคยมีคำสั่งของกรมการปกครองที่ระบุว่า ห้ามแก้ไขผลการสำรวจบุคคลที่ระบุว่าเกิดนอกประเทศเป็นเกิดในประเทศ เนื่องจากกรมการปกครองเกรงว่าจะเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอรัปชั่น อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้เฒ่าที่เป็นชาวเขาเผ่าดั้งเดิมจำนวนมากประสบปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำให้มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)ได้ทำการสำรวจและหาทางช่วยเหลือทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ซึ่งกรณีของนายอาเหล ได้มีการประสานกันระหว่างครอบครัวนายอาเหล มูลนิธิพชภ. อำเภอแม่จันและกรมการปกครอง โดยอำเภอแม่จันได้ทำหนังสือขอหารือไปยังจังหวัดเชียงราย และกรมการปกครอง เกี่ยวกับการแก้ไขข้อมูล ซึ่งนายธนาคม อธิบดีกรมการปกครองได้ตอบกลับมาว่า ให้สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในการแก้ไขข้อมูลในลักษณะนี้ ซึ่งในที่สุดนายอาเหลและภรรยาจึงได้รับการรับรองสัญชาติไทย และถ่ายบัตรประชาชนไทย นายอาเหล กล่าวว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้บัตรประชาชน แต่ไม่ได้คิดอยากไปต่างประเทศหรอก แค่เป็นคนญาติเยอะ มีลูกหลานมากมายจึงอยากไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนจะไปไหนแต่ละทีต้องไปขออนุญาต ยิ่งพอเจอตำรวจก็กลัวจนตัวสั่นทุกครั้ง แต่หลังได้บัตรประชาชน คงไม่ต้องกลัวแล้ว โดยจะเดินทางไปเยี่ยมน้องชายที่ป่วยหนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นางอาหวู่มิ วัย 78 ปีกล่าวว่ารู้สึกตื้นเต้นที่ได้ถ่ายรูปและทำบัตรประชาชนซึ่งต้องขอขอบคุณทุกๆ ฝ่ายที่ช่วยกันทำให้ตนมีวันนี้ โดยความใฝ่ฝันของตนคือการได้เดินทางไปเที่ยวทะเล แต่ไม่รู้จะได้มีโอกาสไปหรือไม่ ที่สำคัญคือการได้รับสวัสดิการต่างๆ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุซึ่งที่ผ่านมาตนได้แต่มองเพื่อนๆ บ้านที่มีบัตรประชาชนรับเบี้ยผู้สูงอายุ และตนไม่มีโอกาส ครั้งนี้ตนรู้สึกดีใจที่จะได้รับกับเขาบ้าง นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า จากรายงานสถิติบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อายุเกิน 61 ปี ขึ้นไปของกรมการปกครอง ณ เดือนกรกฎาคม 2563 ระบุว่า มีบุคคลอายุเกิน 61 ปีขึ้นไปซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อีก 77,638 คนทั่วประเทศ ที่ได้รับการสำรวจ มีบัตรประเภทต่างๆ แล้ว (ยังไม่รวมผู้เฒ่าที่ถือบัตรตามพรบ.การทะเบียนราษฎร มาตา38 วรรค2 และผู้เฒ่าไร้รัฐที่ยังตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร) ยังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ “หวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเร่งรัดการแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติให้สำเร็จได้โดยเร็ว ให้เป็นไปตามคำมั่นที่ผู้แทนไทยให้คำมั่น ต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) นครเจนีวาสมาพันธ์สวิส ที่7ตุลาคม 2563 โดยระหว่างนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุข ควรทบทวนสิทธิในสวัสดิการสังคมและสิทธิในหลักประกันสุขภาพของผู้สูงอายุที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้รัฐบาลได้พิสูจน์ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยเหตุแห่งความไร้รัฐไร้สัญชาติ” นางเตือนใจ กล่าว นายวีนัส สีสุข รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่าถึงการที่ยังมีผู้เฒ่าอีกกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศที่ยังประสบปัญหาสัญชาติว่า ต้องแยกจำนวนตัวเลขกลุ่มต่างๆ ออกจากกัน โดยผู้เฒ่าส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เกิดนอกประเทศจึงได้รับสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนผู้เฒ่าที่เกิดในประเทศนั้น จะได้การรับรองเมื่อไรก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายด้วยว่ามองปัญหาของคนกลุ่มนี้อย่างไร ถ้าเกิดข้อติดขัดทางปฏิบัติจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เพราะทุกวันนี้เรามีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนที่มีน้อยและทำให้ไม่ทัน ผู้สื่อข่าวถึงกรณีของผู้เฒ่าอาเหลจะเป็นแนวปฎิบัติให้กรณีอื่นๆ ที่มีปัญหาการบันทึกข้อมูลผิดหรือไม่ นายวีนัสกล่าวว่าใช้เป็นแนวทางได้เพราะหนังสือที่อธิบดีกรมการปกครองส่งมานั้นเป็นการสั่งการทั่วไป และไม่ได้เป็นเฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใด แต่ต้องยึดการแก้ไขตามระเบียบของกรมคือถ้ามีเอกสารราชการอ้างอิงก็สามารถแก้ไขได้เลย ถ้าไม่มีก็ให้ใช้พยายานบุคคลซึ่งเป็นอำนาจที่นายอำเภอใช้ดุลพินิจที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง “ที่ผ่านมาทางอำเภอมักไม่กล้าแก้ไขข้อมูลที่บันทึกผิดเพราะมีการอ้างอิงคำพิพากษาของศาลอาญากรณีหนึ่งที่มีการเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการทุจริต ทำให้ผู้ปฎิบัติงานเกิดความกังวล แต่เมื่อมีหนังสือสั่งการออกมาจากอธิบดีกรมการปกครองแล้ว จะช่วยแก้ไขความกังวลเหล่านี้ได้” นายวีนัส กล่าว เมื่อถามอีกว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องรับรองสัญชาติเกิดการทุจริตอยู่เสมอจะแก้ไขอย่างไร รองอธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่า ทางกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองก็พยายามเน้นย้ำเสมอและกำชับมาโดยตลอด หากข้าราชการเข้าไปยุ่งกับผลประโยชน์เหล่านี้ หากตรวจพบว่ามีมูลก็จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในอำเภอเวียงแหง ก็ได้มีการย้ายนายอำเภอ ส่วนที่จังหวัดเชียงรายก็มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตอยู่บ้างโดยขณะนี้กำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงอยู่ นายชุติ งามอุรุเลิศ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานานโดยเฉพาะการแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดนั้น ไม่เคยมีนายอำเภอคนใดกล้าทำเพราะกลัว แต่ครั้งนี้เมื่อ มูลนิธิพชภ.ได้ดำเนินการจนทางกรมการปกครองมีหนังสือสั่งการมาถึงอำเภอแม่จันเพื่อยืนยันให้ทำได้ จึงทำให้เกิดความมั่นใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นตันแบบและมาตรฐานใหม่ อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ควรมีการปรับโครงสร้างระบบราชการ เพราะระบบในปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์ให้กับชาวบ้านเพราะยังมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรมการปกครองและฝ่ายทะเบียน ควรมีการปฎิรูปโครงสร้างการทำงานงานด้านสถานะบุคคล เช่น ให้มีฝ่ายที่ทำเรื่องสัญชาติโดยเฉพาะแยกออกมาจากงานทะเบียนราษฏร “เรื่องความกระตือรือร้นของเจ้าหน้าที่เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เพราะบางครั้งปัญหาของคนเฒ่าไร้สัญชาติก็ถูกเก็บเอาไว้ก่อนเพราะเขาคิดว่าไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน เขาไม่ได้คิดว่าคนเฒ่าเหล่านี้รอความหวังและไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตต่อไปได้อีกกี่วัน จริงๆแล้วเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรรีบทำ” นายชุติ กล่าว