เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 กันยายน ที่โรงแรมดิอิมพีเรียลโฮเทล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชนครั้งที่ 2 “โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองนครราชสีมา” โดยมีคณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชน รับฟัง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ฯ นำเสนอภาพอนาคต 2040 โดยใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต" (foresight technique) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบและวางผังยุทธศาสตร์ให้มีความแม่นย้ำ ยึดหยุ่น สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคตได้ ทำให้เกิดปัญญาร่วมนำไปสู่ข้อเสนอในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านกายภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นเครื่องมือที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกใช้สำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในระยะยาว นายศักดิ์สิทธิ์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีบทบาทเป็นประตูหน้าด่านในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนโยบายการพัฒนาระดับภูมิภาคและโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้เกิดศักยภาพและความพร้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้พื้นที่ในหลายบริเวณมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองและชุมชน รวมถึงแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของประชากร แรงงานและนักท่องเที่ยวในอนาคต ผศ.ดร.นิรมล ที่ปรึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เช่น ทางหลวงหมายเลข 6 หรือมอเตอร์ (บางปะอิน-นครราชสีมา) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงพร้อมสถานีขนส่งหลัก 3 แห่ง ได้แก่สถานีนครราชสีมา สถานีปากช่อง และสถานีบัวใหญ่ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ยังคาดการณ์ภายใต้แนวคิดแนวโน้มการท้าทายอื่นๆ ทั้งการเคลื่อนย้ายประชากรและแรงงาน ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาพอนาคตมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 4 ภาพใหญ่ ประกอบด้วย 1.เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านเกษตรกรรมจากการพัฒนาเมืองแบบโตเดี่ยวที่ศูนย์กลาง 2.เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านเกษตรกรมจากการพัฒนาเมืองหลายศูนย์กลาง 3.เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านอุตสาหกรรมจากการพัฒนาเมืองแบบโตเดี่ยวที่ศูนย์กลาง และ 4.เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านอุตสาหกรรมจากการพัฒนาเมืองหลายศูนย์กลาง อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการต้องสอดคล้องและรองรับกับแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลที่ได้จะแสดงถึงภาพอนาคตของเมืองใหม่ตามปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ โดยการนำเสนอบทสรุปที่เป็นภาพรวมและรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำมาปรับปรุงใช้ในการศึกษารวมทั้งกำหนดทิศทางพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ