ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา  ต่อมาเวลา 11.51 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ความไม่ชอบธรรม ความล้มเหลวของระบอบประยุทธ์ วิกฤตเศรษฐกิจ จนอาจไม่มีที่ยืนหากก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นสาระสำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่แค่เพียงกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. แต่ยังฉุดรั้งให้ประเทศไทยย้อนสู่อดีตล้าหลัง รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ให้อำนาจ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรีคือฉบับปี 2521 อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการตั้งสภาปฏิรูปแต่ก็มีรัฐประหารจนมีรัฐธรรมนูญปี 2521 โดยให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย 4 ปีแรก และเลือกพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก็มีนายกรัฐมนตรีคือพลเอกเปรม ตินสูลานนท์ แต่ผ่านมา 40 ปี ยังมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอีก นี่คือความเหมือนที่ไม่บังเอิญระหว่างปี 2521 และ 2560 ใช้วิธีผูกขาดอำนาจ องค์กรอิสระใช้อำนาจฉ้อฉลในทางการเมือง 40 ปี จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ยังวนเวียนทวนเข็มนาฬิกา นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยเป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กดอำนาจประชาชนไปสู่อดีต ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งที่สู้เพื่อประชาธิปไตยมาหลาย 10 ปี หวังว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีผลลัพท์ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จึงขอวิงวอน ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญถอนฟืนออกจากกองไฟ โอบอุ้มโดยร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทุกกลุ่ม ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ญัตติของฝ่ายรัฐบาลยังเปิดทางให้ ส.ส.ร.มีการแต่งตั้งจากคนของระบอบประยุทธ์เข้ามา นายพิธา กล่าวว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่จำกัดความฝันประชาชน ดังนั้นการห้ามแก้หมวด 1 และหมวด 2 จะไม่ช่วยให้ข้อเรียกร้องประชาชนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริง ได้ถูกพูดถึงด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อให้ระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงสถาพร ขณะที่มีคนบางกลุ่มพยายามปลุกปั่นทำให้การเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นปีศาจ ทั้งที่เป็นสิ่งธรรมดาสามัญมาก ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าความเท่ากัน ความเสมอภาคตามกฎหมาย ตรวจสอบได้ ฝันถึงสังคมที่ไม่มีการรัฐประหาร อยากเห็นข้าราชการ ตุลาการ ทหาร พระมหากษัตริย์ ร่วมกันไม่รับรองคณะรัฐประหาร สถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติต้องปลอดพ้นจากการเมือง และจะสวยงามหากมาตรา 1 เริ่มด้วยคำที่เรียบง่ายว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รวมถึงหวังว่าจะไม่มีการยื้อหรือประวิงเวลาให้ระบอบประยุทธ์อยู่ต่อไป ดังนั้นต้องเร่งพิจารณาใจกลางปัญหาความขัดแย้ง คือ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ระบบเลือกตั้ง และองค์กรอิสระที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ รวมถึงการให้อำนาจพระมหากษัตริย์ยับยั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดการปะทะทางอำนาจ ตอนนี้ประชาชนหมดศรัทธากับรัฐสภา จึงต้องเป็นความหวังให้ประชาชน ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญแบบขอไปทีหรือให้รัฐบาลอยู่รอดเท่านั้น หากเห็นชอบแค่ตามที่รัฐบาลเสนอ ความขัดแย้งจะทอดยาวออกไป และอาจจบด้วยการปะทะรุนแรง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย จึงเรียกร้องฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภา ขอให้ไม่อยู่กับระบอบประยุทธ์ หยุดกอดอดีต และอยู่ข้างประชาชน ทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วง ของนายพิธา ใช้คำว่าระบอบประยุทธ์หลายรอบ ก็อยากจะบอกว่าการปกครองของประเทศไทยมีเพียงระบอบเดียว คือ ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากฝ่ายของตนพูดว่าระบอบ ธนาธร บวกกับ ปิยบุตรบ้างก็คงไม่ดี ซึ่งตนได้กำชับในส่วนของรัฐบาลว่าอย่าพูด ด้านนายพิธา ตอบโต้ว่า คำว่าระบอบประยุทธ์ หมายถึงการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจมา และมองคาพยพที่มาจากการแต่งตั้ง