ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา  ต่อมา เวลา 11.05 น. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ขัดหลักประชาธิปไตยหลายเรื่อง ทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เศรษฐกิจถดถอยหลังจากบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยเปรียบเทียบการจัดตั้ง ส.ส.ร.และทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทนมั่งคั่ง เป็นสวรรค์ของนักลงทุน เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย สามารถจัดระเบียบสังคม ปราบปรามาเฟีย ยาเสพติด พักหนี้เกษตรกร ปรับปรุงโครงสร้าภาษี จัดงบประมาณสมดุล ปลดหนี้ IMF ครบด้วยปัจจัย 4 ซึ่งสรุปว่ากติกาที่ประชาชนร่างมาทำให้ไทยผงาดในเอเชียและเวทีโลก แต่แม้รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง แต่ก็ยังทิ้งมรดกไว้มากมาย เกิดนโยบายสำคัญมากมายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นการจะให้กติกาได้รับการยอมรับ ต้องให้คนในสังคมมีส่วนร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่ส รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วม เกิดจากแนวคิดผู้ยึดอำนาจ ไม่มีหลักนิติธรรมสากล ทำให้มีผลอาญาย้อนหลัง พิจารณาคดีลับหลังได้ ขณะที่การแก้ไขทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหาการเมือง ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นต้นตอปัญหา จึงต้องช่วยกันยุติปัญหาทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง สนองความต้องการหยุดคุกคาม ร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. และยุบสภา จึงเชื่อว่า ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเห็นชอบหลักการตามญัตติที่เสนอ เหลือเพียงเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 24 เสียง ที่จะมีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองพ้นจากความขัดแย้ง แต่วุฒิสภาบางคนยังเข้าใจผิด คิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นการตีเช็คเปล่า จึงขอทำความเข้าใจว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม หาก ส.ส.ร.ร่างมาไม่ดี รัฐสภาก็สามารถตีกลับได้ หรือประชาชนทำประชามติไม่เห็นชอบ ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่การตีเช็คเปล่า และคิดว่าคุ้มหากจะงบประมาณประชามติเป็นหมื่นล้านบ้าน แลกกับการปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องรัฐบาล จึงไม่มีอุปสรรคต่อกัน รัฐบาลสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ "จึงอยากเรียกร้องให้วุฒิสภาให้การสนับสนุนตั้ง ส.ส.ร. ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นชอบตรงกัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็ขอให้วุฒิสภาสบายใจ ทำงานร่วมกัน ทุกฝ่ายสามารถตั้งตัวแทนร่วมเป็นกรรมาธิการได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบครอบ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด เชื่อ ส.ว.ทั้ง 250 คนมีความรักชาติไม่ต่างกัน จึงขอให้เห็นชอบหลักการที่เสนอ" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว                 ต่อมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  อภิปรายว่า แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ควรแก้ไขได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยลำพังได้ จึงต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาล  ดังนั้นดารแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องใช้เสียงของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และส.ว.เกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขอีกว่า เสียงที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้นต้องมีฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 48 เสียง และต้องมีส.ว.ให้ความเห็นชอบอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง รวมทั้งเมื่อผ่านสภาฯ ต้องเอาไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งด้วย ดังนั้น ความร่วมมือของรัฐสภาจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่ารัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือวุฒิสภาขาดหายไป การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้                นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ตนสนับสนุนควรมีวุฒิสภา แต่ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้นก็ควรมีอำนาจและบทบาทที่จำกัดคือ ควรมีบทบาทกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ไป และควรมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ไม่แตะหรือไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 เพราะเป็นหมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ รูปแบบการเป็นประเทศของเรา และเป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่มาของเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น พร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่มีหลักการใกล้เคียงกัน