เรียกได้ว่าหายเหนื่อย สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน1.05ล้านคน หลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมขยายค่าตอบแทนอีก 3 เดือน(ต.ค.-ธ.ค.2563)วงเงิน 1,500 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ส.ค . 2563 คณะรัฐมนตรี เคยมีมติอนุมัติงบประมาณค่าตอบแทนพิเศษให้แก่ อสม. ตามโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามชุมชน รวม 7 เดือน (ระหว่าง มี.ค.-ก.ย. 2563) วงเงิน 3,622 ล้านบาท เท่ากับว่า อสม. จะได้รับงบประมาณพิเศษก้อนนี้ 10 เดือนด้วยกัน โดยได้เดือนละ 500บาท หลายคนอาจเกาหัวแกรก ๆ ว่า ทำไม อสม. ถึงได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ‘งาม’ เช่นนี้ หากบิดเข็มนาฬิกากลับไปตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เพิ่งระบาดใหม่ ๆ ช่วงต้นปี 2563 ปฏิเสธไม่ได้ว่า หน่วยงานสำคัญที่เป็นกำลังขับเคลื่อน ทุ่มเททำงานอุทิศให้กับชุมชนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 หนีไม่พ้น อสม. ที่เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 4 พันราย เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก และการติดเชื้อ ในไทยรายวัน ไม่เคยพุ่งถึงหลักร้อยคนแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่บินมาจากนอกประเทศ แทบไม่มีผู้ติดเชื้อที่แพร่เชื้อกันภายในประเทศ บทบาทของ อสม. ในการป้องกันเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ภายในชุมชน ใช้วิธีการ ‘เคาะประตูบ้าน’ เพื่อสังเกตอาการกลุ่มคนที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโควิด-19 โดยเริ่มจากติดตามชื่อคนที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ประสานกับแกนนำชุมชน ก่อนจะเข้าไปหาที่บ้าน เพื่อแนะนำวิธีการป้องกัน เช่น การกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ออกกำลังให้ถูกต้อง พร้อมกับสร้างความรู้ความใจในเรื่องโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการให้สำรวจตัวเองบ่อย ๆ ว่ามีอาการป่วยหรือไม่ หากพบว่าป่วยให้แจ้ง อสม. เพื่อไปตรวจทันที เป็นต้น ปัจจุบันมี อสม. มีจำนวนคนที่เฝ้าระวังแบ่งเป็นตามเขตสุขภาพ 12 เขต รวม 326,686 คน ให้คำแนะนำประชาชนไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านคน และมีการสอนให้ประชาชนผลิตหน้ากากอนามัยจากผ้า และเจลแอลกอฮอล์ไว้ใช้เอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายภายในชุมชน แม้แต่ WHO หรือองค์การอนามัยโลก โดย ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ยกย่องไทย และกลุ่มประเทศในอาเซียนว่าสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO จนเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ทั่วโลกยังมีการระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะ อสม. ที่ WHO ออกปากชมเปาะว่า พลังของ อสม.ไทย เป็นตัวอย่างแนวทางในการควบคุมโรคแก่นานาประเทศ จนไทยเป็นประเด็นที่ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลกในการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค แต่อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ และเป็นผู้ ‘ปิดทองหลังพระ’ ตัวจริงคือ ‘หมอหนู’ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ผู้ผลักดันให้ อสม. มีบทบาทในการเข้าถึงชุมชน เฝ้าระวังโรคโควิด-19 พร้อมกับบูรณาการกับหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้การป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยแข็งแกร่งอย่างมากในสายตาชาวโลก ‘หมอหนู’ เห็นความสำคัญและความพยายามของ อสม. จึงริเริ่มโครงการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้แก่ อสม. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานอย่างเหน็ดเหนื่อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงออกโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่าย อสม. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศอีกด้วย “แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นแล้ว แต่ขอให้ อสม.ช่วยกระตุ้นเตือน ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนว่าอย่าประมาท การ์ดอย่าตก การป้องกันตัวเองยังสำคัญ” เป็นถ้อยความจาก ‘หมอหนู’ ที่แม้จะเห็นว่าไทยค่อนข้าง ‘ปลอดภัย’ จากโรคโควิด-19 แต่ยังกระตุ้น อสม.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่เสมอ หากใครจำกันได้ ก่อนหน้านี้เป็นข่าวดังสะท้านแวดวงการเมือง กรณีนายอนุทิน ออกมา ‘งัดข้อ’ กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่ต้องการตัดงบประมาณค่าตอบแทนของ อสม. จากเดิมได้รับรายละ 500 บาท รวม 19 เดือน เหลือเพียง 7 เดือน แต่ท้ายที่สุด ‘หมอหนู’ ได้ต่อสู้เรื่องนี้อย่างสุดกำลัง แม้ว่า อสม. จะได้งบประมาณไม่ครบ 19 เดือน แต่ก็ยังได้มากถึง 10 เดือนด้วยกัน “ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันอย่างละเอียดเรียบร้อยรอบคอบแล้ว ควรจะต้องตอบแทนความเสี่ยงภัยของ อสม. ที่ช่วยให้ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 มาได้ถึงทุกวันนี้ ถือว่าเป็นผลงานสำคัญของ อสม.ทั่วประเทศ” คำยืนยันของนายอนุทินในช่วงงัดข้อกับสภาพัฒน์ฯ จนกลายมาเป็นความจริงในวันนี้ ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจสำคัญในการป้องกันโรคโควิด-19 ภายในไทยทุกวันนี้ คือ อสม. ในขณะที่ อสม.มีวันนี้ได้ด้วยหัวใจของ ‘หมอหนู’ ที่คอยผลักดันบทบาทมาตลอด จนท้ายที่สุดผู้ชนะคือ ‘ประเทศไทย’ ที่กลายเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกในการปลอดเชื้อโควิด-19 จนถึงทุกวันนี้