"นักวิชาการ" แนะดึงนทท.อยู่ "สุโขทัย" ยาว ช่วยปชส.ให้โลกรู้ ชี้ "โบราณสถาน-โบราณวัตถุ-งานศิลปะ" เป็นจุดแข็ง แต่ไร้หน่วยงานรับผิดชอบเป็นหลัก วันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่โรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ต แอนด์ สปา จ.สุโขทัย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยืน องค์การมหาชน (อพท.) จัดประชุมเสวนาผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับนานาชาติ ด้านการท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์ “Sukhothai 2020 Roundtable on Tourism, Heritage and Creative City สุโขทัย ถอดรหัสโต๊ะกลม การท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม และเมืองสร้างสรรค์” เป็นวันที่ 2 โดยวันนี้จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "สุโขทัยที่น่าจะเป็นกับการวางผังเมืองเฉพาะเมืองมรดกโลกเพื่อการท่องเที่ยว" โดยมีดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผู้เชียวชาญด้านผังเมืองและอนุรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิชาการในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ,ดร.ริชาร์ด แองเกิลฮาร์ท อดีตที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านวัฒนธรรม ในเอเชียแปซิฟิคแห่งยูเนสโก, ยุค หง เอียน ตัน กรรมการผู้เชี่ยวชาญและ รองประธาน คณะกรรมการวิชาการ ด้านท่องเที่ยว วัฒนธรรมแห่งอิโคโมสสากล และผศ.ดร.วิติยา ปิดตังนาโพธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.ริชาร์ด กล่าวว่า การพัฒนาการไม่ว่าแง่ไหน ควรเป็นไปเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ต้องมีการวางแผนทั้งภาพกว้าง และระดับพื้นที่ ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราพยายามตามศึกษาดูว่าได้ทำอะไร และมีกรณีศึกษาในหลายประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่มรดกวัฒนธรรม หลายพื้นที่อยากเป็นมรดกโลก ขณะที่หลายพื้นที่ได้เป็นแล้ว ต้องมองว่า คนในชุมชน และสังคมนักท่องเที่ยว ซึ่งมีหลักการ คือ ทุกคนต้องทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ปัญหาที่ท้าทายของการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือขาดการประสานงาน และขาดการเป็นหนึ่งเดียว มีการแก่งแย่ง ซึ่งเรามักตกในสถานการณ์ที่ต้องใช้ทรัพยากรที่จำกัด จึงจำเป็นต้องมีกรอบในการอนุรักษ์เพื่อควบคุมอยู่ และมรดกวัฒธรรมที่จับต้องได้และไม่ได้ ต้องมีการนำมารวมกัน เพราะทั้งสองสิ่งไม่สามาถแยกจากกันได้ ดังนั้นต้องมีการวางแผน โดยสิ่งแรกคือการลงทุนในการพัฒนา เราจำเป็นต้งลงทุน และลงทรัพยากร และไม่ควรวัดความสำเร็จจากเม็ดเงินที่สะพัด ต้องดูในพื้นที่ว่าเรามีอะไร ได้เท่าไหร่ นอกจากนี้ต้องเสริมสร้างศักยภาพผู้นำชุมชนในท้องถิ่นด้วย "จากประสบการณ์ที่ได้ไปดูเมืองเก่ามากกว่า 30 แห่งคือไม่มีหน่วยงานอนุรักษ์ที่จะรับผิดชอบตัวมรดกของเมืองเก่า เรามีสิ่งที่เรียกว่าสภาวัฒนธรรมของเมือง แต่ส่วนมากเขาจะดูแลงานอื่นมากกว่า อาจจะเป็นเรื่องประเพณีหรือประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่มีหน่วยงานหรือกรมใดที่ทำงานในเชิงรุก ที่วางแผนว่าต่อไปในอนาคตเราจะทำอย่างไรกับสมบัติ และสิ่งของต่างๆ ที่ค่อนข้างมีค่ามากที่มาพร้อมกับเมืองเก่า เรามีแผนแม่บทแล้ว และได้รับการอนุมัติแล้ว เป็นมติครม. แต่สิ่งที่ตนได้ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ คือมีแผนคุ้มครองพัฒนาเมืองเก่า แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไรต่อ ต่อให้มีตัวแทนแล้วก็ไม่รู้ว่าต่อไปต้องทำอะไร เพราะไม่มีกลไกลภาคปฏิบัติ จริงๆ กลไกภาคทางการที่จะลงมาช่วยนำ และสอนคนว่ามีแผนแม่บทแล้วทำอะไรต่อยังขาดในส่วนนี้ หน่วยงานในพื้นที่ก็ยังไม่มี เพราะกลไกตัวนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้นนี่คือปัญหา เพราะการบูรณาการนั้น ผมมองว่าการบูรณาการอาจจะต้องทำร่วมกับแผนของพื้นที่ เรามีแผนประจำพื้นที่อยู่แล้ว แต่มีไม่กี่ที่ที่เป็นเมืองเก่าที่เขานำนิยามเมืองเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์พื้นที่ หรือแผนพัฒนาพื้นที่ไม่ค่อยมีเรื่องจากแผนเหล่านี้" ดร.ริชาร์ด กล่าว ด้าน ดร.ยงธนิศร์ กล่าวว่า ปัญหาข้อสังเกตที่ตนมีต่อสุโขทัย สิ่งแรกคือการตีความการเล่าเรื่อง และนิยามคำว่ามรดกวัฒนธรรมในฐานะมรดกวัฒนธรรมโลกยังไม่มากพอ เพราะทางภาครัฐเองเน้นในเชิงการนำสิ่งของมาใช้ การนำพื้นที่โบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ มาเป็นจุดขายแต่ไม่ได้มีการตีความต่อว่าสุดท้ายหมายความว่าอะไร รวมถึงความเชื่อที่อยู่ในพื้นที่คืออะไร การตีความในมิติเชิงความเชื่อหรือความรู้ยังไม่มากพอ รัฐบาลควรจะเน้นในส่วนนั้น ไม่ใช่แค่โบราณสถานหรือโบราณวัตถุ และจุดแข็งที่สุโขทัยมีคือเรื่องงานศิลปะต่างๆ งานหัตถกรรมงานฝีมือ แต่ตนยังไม่เห็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้เป็นหลัก นี่ไม่ใช่ความผิดของคนในพื้นที่ เพราะเขาทำงาน เขาเป็นคนผลิต เขาเก่ง แต่ประเด็นคือต้องหาคนกลางที่จะช่วยสานต่อว่าทำเสร็จแล้วจะออกไปไหนหรือทำอะไรต่อ ขณะที่ ดร.ยุค หง เอียน ตัน กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการเดินทางของเด็กรุ่นใหม่ การเดินทางไม่ได้กลับมาเป็นเหมือนเดิมในระยะเวลาใกล้นี้ ขณะที่การท่องเที่ยวในสุโขทัยทำได้ดีหลายอย่าง มีการจัดท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งของกิน และงานประเพณีต่างๆ ต้องดูว่าเราสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวสุโขทัยได้ในระยะเวลานานมากขึ้นหรือไม่ แทนที่จะมาแค่วันสองวัน แต่ดึงให้นักท่องเที่ยวอยู่เป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตได้หรือไม่ แปลงคนที่มาระยะสั้นให้นานขึ้น เพื่อเป็นกระบอกเสียงโฆษณาสุโขทัยให้โลกรู้ อย่างไรก็ตาม หลังจากโควิด-19 ต้องมีโรคระบาดอื่นอีกแน่ในอนาคต เราต้องยอมรับเรื่องการกักตัวในการเดินทางถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการเดินทาง เราต้องดูว่าจะให้เขาอยู่นานได้หรือไม่ ดร.ยุค หง เอียน ตัน กล่าวอีกว่า ในส่วนของเรื่องกิจกรรมเชิงโบราณคดี ดึงบุคคล ครอบครัวให้พักระยะเวลายาว ดึงนักโบราณคดี เป็นพื้นที่โรงเรียนฝึกภาคฤดูร้อน ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่เป็นเดือนได้ ส่งผลโฮมสเตย์ โรงแรม การคมนาคมต่างๆ นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลกคือเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานในที่เดียว ชอบเดินทางไปทั่วโลก เขาทำงานผ่านแลปท็อปตัวเอง อย่างที่จ.เชียงใหม่ หรือภูเก็ต คือที่สำคัญที่เขาไปฝังตัวอยู่ ดังนั้นสุโขทัยก็ควรเป็นเมืองหนึ่งที่เขามาฝังตัว ดึงบุคคลเหล่านั้นมาสุโขทัย เราอาจพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต ร้านกาแฟ นำโรงงานเก่าๆ แปลงเป็นออฟฟิศ มีสถานที่ที่เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ธนาคารจะเข้ามา กลุ่มเด็กๆ ที่ย้ายไปเมืองหลวง อาจจะกลับมาบ้าน มาพัฒนาเศรษฐกิจในสุโขทัยได้ "การเล่าเรื่องอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องดีในการส่งเสริมทำให้คนอยากเข้ามาอยู่สุโขทัย เราควรใช้โอกาสนี้ในการพิจารณาว่าจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าคนเอเชียชอบดูละคร เรามีละครที่ได้รับความนิยม ดังนั้นสุโขทัยจะมีละครของตัวเองหรือไม่ เช่น ละครย้อนยุคจะเริ่มทำเมื่อไหร่" ดร.ยุค หง เอียน ตัน กล่าว ส่วน ผศ.ดร.วิติยา กล่าวว่า เราต้องอย่าไปแยกคนจากเมือง อย่าไปแยกคนออกจากวัฒนธรรมในพื้นที่ เราต้องให้เขามามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะเราต้องการสร้างเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เราต้องให้คนอยู่ในเมืองด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่าสุโขทัยมีพื้นที่เป็นส่วนกลางของวัฒนธรรม หลายร้อยปีมาแล้วที่สุโขทัยเป็นแม่เหล็กดึงดูดพหุวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาร่วมกัน ดังนั้นเราต้องคิดต่อยอดไปด้วยว่าตัวระเบียงวัฒนธรรมเราจะไปโยงได้อย่างไรกับภาพรวม การเรียนรู้และการแบ่งปันปัจจัยสู่ความสำเร็จ อย่างแรกคือเราต้องมีเป้าหมายร่วมกันถึงจะประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องเข้าถึงตัววัฒนธรรม และประเพณีได้โดยสำคัญ โดยการวางคนให้เหมาะสมกับงาน และให้คนที่เป็นหัวใจหลักเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน นำแผนงานไปใช้ในการปฏิบัติให้ได้จริง แทนที่จะเป็นแผนงานอย่างเดียว นอกจากนี้ยังต้องเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย หลังจากนั้นเราต้องไม่ใช่ผู้รับอย่างเดียวแต่ต้องเป็นผู้ให้ด้วย นี่คือหัวใจหลักที่ โครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรยูเนสโก (UCCN) ให้รัฐภาคี และสมาชิกทุกเมืองต้องคำนึงถึง ซึ่งสุโขทัยเอง ได้รับการประกาศเป็นหนึ่งในเครือข่าย ในปี 2562